วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทำไมการพูดถึงล้มเหลว

ทำไมการพูดถึงล้มเหลว

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

                ทำไม การพูดต่อหน้าที่ชุมชนของคนบางคนจึงประสบความสำเร็จ แต่ในทางกลับกันการพูดต่อหน้าที่ชุมชนของคนบางคนจึงล้มเหลว ในบทความฉบับนี้ เราจะมาพูดเรื่องนี้กัน ถ้าท่านต้องการให้การพูดของท่านล้มเหลว ท่านควรทำดังนี้

                1.จง เตรียมการพูดให้น้อยที่สุด การเตรียมการพูดมีความสำคัญมาก หากท่านเตรียมพูดไม่มากพอ การพูดของท่านก็มักจะล้มเหลว ดังนั้นหากต้องการให้การพูดล้มเหลว ท่านควรเตรียมตัวให้น้อยหรือไม่ต้องเตรียมตัวเลย แต่หากต้องการประสบความสำเร็จในการพูด ท่านควรเตรียมการพูดให้มาก ซึ่งหมายถึง เตรียมเนื้อหา เตรียมข้อมูล เตรียมรูปแบบการนำเสนอ ฯลฯ

                2.จง อย่าพยายามยกตัวอย่างประกอบ นักพูดที่ประสบความสำเร็จ มักมีตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นภาพ หรือเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น แต่ถ้าท่านต้องการให้การพูดของท่านล้มเหลว ท่านควรทำตรงกันข้าม กล่าวคือ ท่านไม่ควรยกตัวอย่างประกอบการพูด

                3.จง พูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวหรือน้ำเสียงระดับเดียวกันตลอดการพูดของท่าน น้ำเสียงมีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน สำคัญจนมีคำกล่าวว่า “ ถ้อยคำแสดงถึงภาษาความหมาย  แต่น้ำเสียงทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่หวั่นไหว ”  ดังนั้นหากท่านต้องการล้มเหลวในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนแต่ละครั้งในการพูดควรพูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวกันหรือน้ำเสียงระดับเดียวกัน

                4.จงเลือกพูดในเรื่องที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ  บุคคล ที่ประสบความสำเร็จในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดหรือบรรยายอยู่พอสมควร แต่ถ้ามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาเชื่อถือ หากต้องการล้มเหลวในการพูด จงเลือกหัวข้อยากๆ หรือเลือกหัวข้อที่ไม่มีความรู้ความชำนาญ แล้วการพูดของท่านก็จะล้มเหลวอย่างไม่ต้องสงสัย

                5.จง อย่าสนใจผู้ฟัง หากต้องการความล้มเหลวในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน เวลาท่านพูดต่อหน้าที่ชุมชน ท่านไม่ควรใส่ใจกับผู้ฟัง ไม่ต้องสนใจผู้ฟัง ไม่ต้องวิเคราะห์ผู้ฟัง ( เพศ อาชีพ วัย อายุ จำนวนผู้ฟัง ประสบการณ์ของผู้ฟัง การศึกษาของผู้ฟัง)

                6.จง พูดด้วยความเฉยชา ไม่ต้องกระตือรือร้น จงอย่าพูดด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง หากพูดด้วยกริยาท่าทางดังกล่าว กระผมเชื่อแน่ว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่คงง่วงนอน หรือ ผู้ฟังส่วนใหญ่คงอยากให้การพูดในครั้งนั้นๆ จบโดยเร็ว หากทำได้ดังนี้ การพูดของท่านก็จะล้มเหลวอย่างไม่ต้องสงสัย

                7.จง พูดด้วยความสับสน วุ่นวาย ไม่ต้องมีลำดับขั้นตอน หรือไม่ต้องมีสุนทรพจน์ หากต้องการให้เกิดความล้มเหลวในการพูด ท่านไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับเวลา ลำดับเหตุการณ์ หากท่านนึกช่วงไหนได้ ท่านก็นำออกมาพูดเลย  เช่น นึกถึง ช่วงกลางของเนื้อหาที่จะพูดได้ก็นำมาพูดขึ้นต้นในการพูด  หาก นึกถึงช่วงสรุปได้ ท่านก็นำมาพูดในช่วงเนื้อหาของเรื่อง จงพูดให้เกิดความสับสน จงพูดจนกระทั่งจับต้นชนปลายไม่ถูก การพูดของท่านก็จะล้มเหลวในที่สุด

                8.จงถ่อมตนให้มากที่สุด หากต้องการการล้มเหลวในการพูด เมื่อท่านเริ่มพูดท่านควร ออกตัว ถ่อมตน ถ่อมตัวให้มากที่สุด  เช่น ถ่อมตนว่า “ ท่านไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะบรรยายหรือพูดนี้เลย ” “ ท่านไม่ได้มีการเตรียมตัวมาพูดในวันนี้เลย ”

“ ความจริงมีคนพูดในเรื่องนี้เก่งกว่ากระผมอีกมากมาย กระผมคงพูดได้ไม่ดีพอ จึงต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า อีกทั้งการมาพูดในครั้งนี้เป็นมวยแทน ”  ยิ่งถ้าท่านออกตัวมากเพียงไร ก็ทำให้ผู้ฟังไม่อยากฟังสิ่งที่ท่านพูดมากเพียงนั้น

                ถ้าหากท่านต้องการให้การพูดแต่ละครั้งล้มเหลว ท่านควรปฏิบัติตามทั้ง 8 ข้อ ดังกล่าวนี้ แต่ถ้าท่านต้องการให้การพูดของท่านประสบความสำเร็จ ท่านคงไม่มีวิธีอื่นใด นอกจากทำตรงกันข้ามกับคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นนี้ แน่นอนการทำให้การพูดแต่ละครั้งล้มเหลว ย่อมง่ายกว่า การทำให้การพูดแต่ละครั้งประสบความสำเร็จ ดังคำเปรียบเทียบว่า การทำความชั่วย่อมง่ายกว่าการทำความดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น