วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แกว่งปากไปหาพวก

แกว่งปากไปหาพวก 
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การ ที่จะพูดให้ถูกใจผู้ฟัง ต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ฟังคือใคร มีความต้องการอะไร มีจำนวนเท่าไร เสมือนหนึ่งเราทำอาหารต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ทานต้องการอาหารประเภท ไหน รสชาติเป็นอย่างไร 
                การวิเคราะห์ผู้ฟังจึงมีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน การวิเคราะห์ผู้ฟังเราสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ 
                1.จำนวนผู้ฟัง มีความสำคัญมากเพราะการพูดกับคนจำนวนน้อย เราต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกับวิธีการพูดที่มีคนจำนวนมาก รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการพูดก็สำคัญไม่น้อย เช่น เอกสารประกอบการบรรยาย ห้องสำหรับใช้บรรยายหรือใช้ในการพูด ถ้าคนน้อยแต่ใช้ห้องประชุมที่ใหญ่มากๆ  หรือ ถ้าคนมากแต่ดันใช้ห้องประชุมขนาดเล็กๆ ทำให้บรรจุคนไม่พอ ดังนั้นนักพูดต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย
                2.เพศและวัย เรื่องของเพศและวัย  เพศชายส่วนใหญ่ชอบ การผจญภัย การต่อสู้ กีฬา  ส่วน เพศหญิงชอบเรื่องของ ความสวยงาม แฟชั่น ดังนั้นการพูดต้องพูดให้มีความสำคัญเหมาะกับเพศและวัยของผู้ฟัง สำหรับวัยเด็ก มักชอบเรื่องที่สนุกสนาน มักมีสมาธิสั้นในการฟัง มักชอบนิทาน  วัยรุ่นชอบเรื่องเกี่ยวกับรักๆใคร่ๆ  ชอบเรื่องที่มีความท้าทาย วัยผู้ใหญ่สนใจเรื่องของอาชีพ การสร้างฐานะ และวัยชรา สนใจเรื่องศาสนา เป็นต้น
                3.พื้นฐานการศึกษาของผู้ฟัง การพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน เราจะต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน ถ้าผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาสูง เราสามารถใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ถ้าพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาไม่สูง เราไม่ควรพูดทับศัพท์ และต้องเตรียมเนื้อหา วิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันด้วย ต้อง ใช้ภาษาให้เหมาะสม ในบางครั้งนักพูดคิดไปเองว่า การพูดโดยใช้ภาษาที่สวยงามหรือภาษาวรรณกรรมจะทำให้ผู้ฟังชอบ แต่เปล่าเลย ผู้ฟังที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ต่ำ มักจะไม่เข้าใจ  ทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพในที่สุด
                4.อาชีพ ของผู้ฟัง เช่น อาชีพทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข จะมีศัพท์ในการพูดที่ใช้สื่อสารกันในโรงพยาบาลหรือที่ทำงาน บางครั้งตัวคนไข้หรือผู้ป่วยฟังแล้วอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ศัพท์หรือภาษาเทคนิค ก็ควรมีการอธิบายเพิ่มเติมจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับผู้พูด 
5.ต้องทราบความคาดหวังของผู้ฟัง การบรรยายบางแห่ง ผู้ฟังถูกเกณฑ์ให้มานั่งฟังโดยหัวหน้างานหรือเจ้าของงาน ดังนั้น ผู้ฟังกลุ่มดังกล่าวมักไม่มีความสนใจหรือความคาดหวังว่าจะนำความรู้ไปใช้ได้ อย่างจริงจัง ในการบรรยายบางแห่งผู้ฟังมักเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายเสียมากกว่าเพราะผู้ฟัง เหมือนถูกบังคับให้มานั่งฟังการบรรยาย


                6.ทัศนคติของผู้ฟัง มีความสำคัญมากในการพูด เช่น การพูดเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา ต้องระวังมากๆเพราะ ถึงแม้เราจะพูดให้ได้ดีหรือมีเหตุผลอย่างไรก็ตาม ผู้ฟังมักจะไม่เชื่อ เพราะเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รวมถึงทัศนคติของผู้ฟังต่อผู้พูดด้วย ถ้าผู้ฟังไม่ชอบผู้พูดเป็นการส่วนตัวแล้ว จะพูดให้ดีอย่างไร ก็คงยากที่ผู้ฟังคนนั้นจะชอบเรา

                7.ต้องหมั่นสังเกตผู้ฟัง เวลาฟังบรรยายหรือพูด ถ้าผู้ฟัง เกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่สนใจ หลับ และสนใจเรื่องอื่นๆ  เราต้องเปลี่ยนวิธีการพูดให้เหมาะสม เช่น ต้องนำเรื่องที่ขำขันที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่บรรยายมาเล่า เพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น  หรือ เรื่องที่แปลกๆ ที่ทันสมัย  สิ่ง ที่ผู้ฟังยังไม่เคยได้ยิน มาเล่า เพื่อสอดแทรกการบรรยายให้ผู้ฟังหันมาสนใจการพูดของเรา หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะมีเกมส์ มีเพลง หรือกิจกรรมต่างๆมาสอดแทรกการพูดหรือการบรรยาย
                ดัง นั้น ถ้าต้องการเป็นนักพูดที่ดีต้องหมั่นวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าผู้ฟังของเราเป็นใคร มาจากไหน มีพื้นฐานความรู้แค่ไหน มีทัศนคติอย่างไร เป็นเพศไหน วัยไหน เสมือนหนึ่งนักพูดเป็นพ่อครัว ต้องรู้ว่าผู้ทานชอบอาหารรสชาติอะไร อยู่ในวัยไหน จะได้ทำอาหารให้ถูกปากผู้ทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น