วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ควรพูดให้ได้ทั้งสาระและความบันเทิง

ควรพูดให้ได้ทั้งสาระและความบันเทิง

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

                การ เป็นนักพูดที่ดีนั้น ควรพูดให้ได้ทั้งเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งมีอารมณ์ขันหรือความบันเทิง สอดแทรกในการพูดแต่ละครั้ง เนื่องจากสังคมไทยเรา หนีไม่พ้นความบันเทิง เพราะสังคมไทยเราชอบความสนุกสนาน ดังเราจะสังเกตเห็นว่า นักพูดที่พูดในเชิงวิชาการอย่างเดียว ไม่สอดแทรกความบันเทิงหรืออารมณ์ขันเลย มักไม่เป็นที่นิยมเท่ากับ บรรดานักพูดที่พูดเนื้อหาสาระแล้วมีการสอดแทรกความบันเทิงหรืออารมณ์ขันลงไป ด้วย

                ดัง นั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในการเป็นนักพูดในสังคมไทยเรา ท่านควรพูดให้ได้ทั้งเนื้อหาในด้านหลักวิชา มีทฤษฏี มีการอ้างอิง มีเหตุผล มีทัศนะ ความเชื่อ มีปฏิภาณตอบโต้ปัญหาต่างๆ มีตลกขบขัน อีกทั้งพูดด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจ หากท่านสามารถพูดได้ดังนี้ จะทำให้ท่านเป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพจากผู้ฟัง

                มี คนเคยถามกระผมว่า แล้วถ้าถูกเชิญให้ไปพูดในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะพูดเนื้อหาสาระกี่เปอร์เซ็นต์ ความบันเทิงกี่เปอร์เซ็นต์ กระผมขอตอบว่า เราคงต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย  เช่น ดูบรรยากาศของงาน ดูการศึกษาของผู้ฟัง ดูว่าเจ้าภาพต้องการให้เราพูดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ฯลฯ

                หาก เจ้าภาพเชิญให้ไปพูดทอล์คโชว์ แน่นอนว่า การพูดครั้งนั้น ต้องพูดโดยมีเนื้อหาความบันเทิงอย่างเดียว สำหรับสาระคงไม่ต้องมีมาก หรือบางแห่ง ถึงกับบอกเลยว่า เราไม่ต้องการสาระ ขอบันเทิงอย่างเดียวพอ กล่าวคือ ต้องพูดให้คนหัวเราะให้ได้ตลอดงาน ( ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผู้ฟังมีความหลากหลาย )

                แต่ ถ้าหากถูกเชิญให้ไปพูดบรรยายในเชิงวิชาการ การอบรมต่างๆ เราก็ควรพูดในเชิงวิชาการให้มากขึ้น สำหรับอารมณ์ขัน ก็ควรมีอยู่บ้าง สำหรับสังคมไทยเรา มักชอบฟังคนพูดแล้วคนหัวเราะ มากกว่า ฟังการพูดแล้วคนเครียด

                ฉะนั้น นักพูดที่ดีจึงต้องพูดให้ได้ทั้งเนื้อหาสาระและบันเทิง สำหรับเทคนิคการหาข้อมูลในเรื่องความบันเทิง นักพูดควรขยันสรรหาตัวอย่างต่างๆให้มากๆ ไม่ว่าจะได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว ต้องหมั่นจดจำ ต้องเป็นนักบันทึก ต้องเป็นนักเลียนแบบและพัฒนาตนเอง หมั่นหามุข หรือตัวอย่างสนุกๆ เพราะการยกตัวอย่างสนุกๆ เป็นเครื่องมือในการใช้ประกอบการพูดได้มาก

                การยกตัวอย่างสนุกๆ ทำให้เราขยายเวลาหรือเป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มเวลาในการพูดได้มากขึ้น เช่น หากมีเวลาเหลืออีก 1 ชั่วโมง เนื้อหาที่เตรียมไปหมดแล้ว เราก็สามารถเพิ่มตัวอย่างที่สนุกๆ ไปได้อีก แต่หากเวลาเกิน เราก็สามารถตัดตัวอย่างที่สนุกๆ ที่เตรียมไว้ทิ้งเสีย

                สำหรับ ยุคปัจจุบัน การหาข้อมูลตัวอย่างที่สนุกๆ หาได้ไม่ยากเหมือนในอดีต เนื่องจากยุคปัจจุบัน เราอยู่ในสังคมของ ข้อมูลข่าวสาร เรามีระบบอินเตอร์เน็ต  เราจึงสามารถหาข้อมูลได้ง่ายและมากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าการหาใน GOOGLE , YOUTUBE ฯลฯ         จึง ทำให้เกิดนักพูดหน้าใหม่ๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งในยุคปัจจุบันมีการกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่กล้าแสดงออกกว่าในอดีต เนื่องจาก มีการแข่งขันรายการต่างๆ มากมาย โดยมีถ้วยรางวัล มีโล่ห์ มีเงิน อีกทั้งได้ออกสื่อต่างๆ ทำให้เป็นที่รู้จักกับผู้คนมากยิ่งขึ้น

                แต่ สิ่งที่ควรคำนึงถึงของนักพูดหน้าใหม่หรือนักพูดรุ่นใหม่ กล่าวคือ เรื่องของกาลเทศะ คำบางคำหรือคำบางประโยค นักพูดรุ่นอาวุโสสามารถพูดได้ แต่นักพูดรุ่นใหม่พูดไม่ได้ เนื่องจากสังคมไทยเรายังถือเรื่องอาวุโส

                ฉะนั้น การพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การที่จะเป็นนักพูดที่ดีได้ ต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะการพูดในยุคปัจจุบัน กระผมถือว่าเป็นวิชาชีพหนึ่งก็ว่าได้ เป็นวิชาชีพที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องความคิด ความรู้ ข้อมูล แนวการนำเสนอในการพูดแต่ละครั้ง เราต้องหาเพิ่มเติมตลอดเวลา จะมากินบุญเก่าหรือใช้ความรู้เก่าๆ วิธีการนำเสนอแบบเก่าๆ คงไม่มีใครอยากที่จะฟัง ดังนั้น นักพูดในยุคใหม่จึงต้องมีเครื่องมือต่างๆ ช่วย เพื่อให้การพูดแต่ละครั้งเกิดความแตกต่างกับนักพูดหรือวิทยากร ท่านอื่นๆ เช่น ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ , ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ,ใช้ระบบการเรียนรู้หรือสร้างบรรยากาศที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้ฟัง อยากที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของนักพูดหรือวิทยากร

ลิ้นเพียงสามนิ้ว ขงเบ้งยกเมืองให้เล่าปี่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น