วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เส้นทางความสำเร็จของนักเขียน

เส้นทางความสำเร็จของนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
การเป็นนักเขียนที่ดีต้องมีความอดทน มีความตั้งใจและต้องมีใจรัก
 เส้นทางสู่การเป็นนักเขียน เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีคนต้องการหรือปรารถนาอยากจะเป็น ซึ่งหลายๆท่านมีวิธีการต่างๆ ในการเดินสู่ความสำเร็จในการเป็นนักเขียนที่แตกต่างกัน  ท่านผู้อ่านเองก็สามารถสร้างเส้นทางของท่านได้เช่นกัน ในบทความฉบับนี้ กระผมขอแนะนำหลักคิดคือ 6 ต.
 1.ต้องเริ่มก่อน ระยะทางหมื่นลี้ ย่อมเริ่มจากก้าวแรก ในการเขียนบทความหรือการเขียนงานเขียนประเภทต่างๆ เราจะต้องเริ่มก่อน ถ้าเราเขียนบทความฉบับแรกได้ บทความฉบับที่สองก็มักจะตามมา หรือถ้าเราทำหนังสือเล่มแรกออกมาวางขายได้ในท้องตลาด หนังสือเล่มที่สองก็จะทำได้ง่ายขึ้น
 2.ต้องศรัทธาและมุ่งมั่น ถ้าท่านมีความศรัทธาในตนเองและมีความมุ่งมั่น พยายาม อดทน ท่านก็จะได้ผลงานเขียนที่ออกมาดี ฉะนั้น ท่านอย่าได้ท้อแท้เสียก่อนเวลาอันควร นักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ไม่ใช่ใช้เวลาเขียนแค่วันสองวัน บางคนใช้เวลาสะสมประสบการณ์ในการเขียนเป็นสิบๆ ปี ถึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นอย่าใจเร็วด่วนได้ จงสร้างความศรัทธาในตัวเองและมุ่งมั่น ในการสร้างผลงานเขียนของตนเองอย่างต่อเนื่อง
 3.ต้องเลือกเรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด การเขียนและงานเขียนมีหลายแนว นักเขียนจะต้องรู้จักตนเองก่อนว่าตนชอบการเขียนและงานเขียนในแนวไหน หากเรารู้ว่าตนชอบงานเขียนในแนวไหน เราก็มักจะเขียนได้ดีกว่า การเขียนหรือแนวเขียนที่เราไม่ชอบหรือมีความถนัด หากไม่รู้ว่าตนเองชอบงานเขียนในแนวไหน กระผมแนะนำให้ลองเข้าห้องสมุดแล้วสังเกตดูว่าตนเองชอบอ่านหนังสือประเภทไหน แนวไหน คนเรามักชอบอ่านหนังสือในแนวที่ตนเองชอบและถนัด
 4.ต้องสะสมข้อมูล ไม่ว่าจากการอ่านหรือการฟัง โดยเฉพาะเรื่องของการอ่านมีความสำคัญมากๆ สำหรับผู้ต้องการเป็นนักเขียนมืออาชีพ ถ้าไม่ได้เป็นนักอ่าน ก็อย่าได้ริเป็นนักเขียน ดังนั้นท่านต้องอ่านมาก อ่านเพื่อสะสมข้อมูล อ่านอย่างเดียวไม่พอ หากท่านเอาแต่อ่าน อ่านและอ่าน ท่านก็เป็นได้แค่นักอ่าน แต่หากท่านต้องการเป็นนักเขียน ท่านจำเป็นจะต้อง เขียน เขียน และเขียน การเขียนก็เหมือนกับการว่ายน้ำ หากอ่านหนังสือว่ายน้ำอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงไปว่ายน้ำ ท่านก็ไม่สามารถว่ายน้ำเป็น งานเขียนก็เช่นกันท่านจำเป็นจะต้องเขียน ไม่ใช่ได้แต่อยาก ได้แต่คิด แต่ไม่ยอมลงมือเขียน
 5.ต้องกล้าที่จะถูกวิจารณ์ บางท่านไม่ยอมเขียน เนื่องจากเกิดความกลัวว่าจะถูกคนวิจารณ์ว่าเขียนได้ไม่ดี บางท่านเขียนแล้วไม่กล้าที่จะไปให้คนดูหรือไม่ยอมพิมพ์ เนื่องจากกลัวเสียงวิจารณ์ต่างต่าง นานา ดังนั้นท่านจะต้องกล้าเสี่ยงต่อคำวิจารณ์ต่างๆ
 6.ต้องคิดพัฒนางานเขียนอยู่เสมอ เมื่อท่านมีงานเขียนออกมาสู่ตลาดแล้ว ท่านควรพัฒนางานเขียนในเล่มต่อๆ ไป ให้มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เนื้อหา การใช้ภาษา การพิสูจน์ตัวอักษร การเพิ่มคุณค่าของหนังสือ และการตลาด
 ดังนั้น บุคคลที่ต้องการเดินบนเส้นทางของนักเขียนจึงต้องมี 6 ต. คือ ต้องเริ่มต้น ต้องศรัธทาและมุ่งมั่น ต้องเลือกเรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด ต้องสะสมข้อมูล ต้องกล้าที่จะถูกวิจารณ์ และต้องคิดพัฒนางานเขียนอยู่เสมอ หากท่านผู้อ่านมีเป้าหมายที่ชัดเจนและต้องการเดินในเส้นทางนี้ 6 ต. จึงเป็นคำแนะนำที่กระผมเชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านไม่มากก็น้อย ผมหวังว่าสักวันหนึ่งท่านคงประสบความสำเร็จในการเขียนหรือเป็นนักเขียนดังเจตนาที่ท่านต้องการทุกท่านครับ
เขียนวันนี้ให้ดีที่สุดและเขียนพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวานนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น