วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สู่การเป็นวิทยากร

สู่การเป็นวิทยากร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
 การเป็นวิทยากรใครที่มีความสามารถในการนำเสนอ อีกทั้งมีความรู้ มีประสบการณ์ ท่านก็สามารถเป็นวิทยากรได้ แต่หากจะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ ในเส้นทางวิทยากร ก็คงต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ในบทความฉบับนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวข้อ “ เทคนิคการเป็นวิทยากร ”
 วิทยากร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจเกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดี เกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้นๆซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว วิทยากรจึงมีบทบาทที่สำคัญหลายประการเช่นอาจเป็นทั้งผู้บรรยาย ผู้สอน ผู้ฝึก พี่เลี้ยง ผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น( สุวิทย์ มูลคำ จากหนังสือ ครบเครื่องเรื่องวิทยากร )
 ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ เป็น วิทยากร จึงมีความสำคัญมากในการฝึกอบรม ในการเรียน ในการสอน หากจะฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ วิทยากรคงต้องทำตนเป็นแบบอย่างหรือต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีความสามารถเหมาะสมก่อนจึงจะบรรยายหรือสอน ให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา และนำคำสอนไปปฏิบัติตาม
 บุคคลที่ต้องการเป็นวิทยากรคงต้องพัฒนาตนเองดังนี้
 1.บุคลิกภาพ ของวิทยากรมีความสำคัญในการปรากฏกายต่อหน้าที่ชุมชน ซึ่งบุคลิกภาพในที่นี้คงรวมไปถึง บุคลิกภาพภายในและบุคลิกภาพภายนอก บุคลิกภาพภายในเช่น ความเชื่อมั่นในตนเอง ความกระตือรือร้น ความจำ อารมณ์ขัน ความคิดริเริ่ม ปฏิภาณไหวพริบ ฯลฯ บุคลิกภาพภายนอกเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา กริยาท่าทาง คำพูดน้ำเสียง ภาษาที่ใช้ ฯลฯ
 2.ต้องมีใจรัก หากว่าไม่มีใจรักในงานด้านบรรยายหรืองานด้านการพูด ก็คงประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าหากมีใจรัก เมื่อพบอุปสรรคก็สามารถฝ่าฟันไปได้
 3.หาเวทีแสดง การที่จะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราคงต้องหาเวทีแสดง งานวิทยากรก็เป็นงานที่เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนด้านหนึ่ง ฉะนั้นถ้าอยากพูดต่อหน้าที่ชุมชนให้เก่งก็คงต้องหาเวทีในการฝึก เช่นกัน หากอยากเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องแสวงหาเวทีในการฝึกเช่นกัน
 4.พัฒนาตนเองให้มีความเก่งหลายๆด้าน เช่น การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการนำเสนอการบรรยายเราก็คงต้องเรียนรู้วิธีการใช้เช่น iPad  หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ , ฝึกร้องเพลงประกอบการอบรม ,ฝึกการพูดต่อหน้าที่ชุมชน , ฝึกการเล่าเรื่องให้สนุก , ฝึกการเล่นเกมส์เพื่อการศึกษา ฯลฯ
 5.เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ การวิทยากรที่ดี เราควรเข้ารับการอบรมบ่อยๆ อบรมเพื่อหาแบบอย่าง อบรมเพื่อสะสมองค์ความรู้ อบรบเพื่อจดจำในสิ่งที่ดี เพื่อในวันข้างหน้าเราจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในเวทีที่เราเป็นวิทยากรในอนาคต
 6.ต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร การทำงานทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้ความพยายาม ทุกคนสามารถเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จได้  หากแต่ทุกคนจะต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร คนที่ล้มเหลว ก็คือคนที่เลิกก่อนที่จะประสบความสำเร็จ การเป็นวิทยากรก็เช่นกัน ไม่มีใครประสบความสำเร็จแค่ 1-2 เวที แต่วิทยากรที่ประสบความสำเร็จย่อมเคยผ่านเวทีเป็นจำนวนมาก บางเวทีก็ล้มเหลว บางเวทีก็ประสบความสำเร็จ แต่หากว่าเวทีไหนที่เขาล้มเหลว วิทยากรที่ประสบความสำเร็จเขาจะไม่ยอมล้มเลิกนั้นเอง เขาจึงเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
 ทั้ง 6 ข้อข้างต้น คือ บุคลิกภาพ ต้องมีใจรัก หาเวทีแสดง พัฒนาตนเองให้เก่งหลายด้าน เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ และต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร เป็นเส้นทางเดินที่จะนำพาท่านไปสู่การเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น