วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดนักเขียน

พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
 การ สื่อสารโดยการเขียนก็คล้ายกับการสื่อสารทางการพูด กล่าวคือ ใครที่เกิดมาไม่เป็นใบ้ก็พูดได้ แต่มีน้อยคนที่พูดเป็น การเขียนก็เช่นกันใครที่อ่านหนังสือออกและเรียนรู้การเขียนก็มีโอกาสในการ เขียนหนังสือได้ แต่มีน้อยคนที่เขียนหนังสือเป็น
 คนที่พูดเป็น จะทำให้คนฟังชื่นชอบ ชื่นชม คนพูดเป็นคนมักจะทำให้ผู้ฟังเกิดเข้าใจในสิ่งที่พูด อำนาจของการพูดทำให้คนพูดสามารถโน้มน้าวใจคนฟังให้เชื่อหรือปฏิบัติตามได้
คนที่เขียนหนังสือเป็น ก็เช่นกัน จะทำให้คนอ่านชื่นชอบ อีกทั้งยังคงเฝ้าติดตามผลงาน นักเขียนที่เขียนเป็นมักสามารถโน้มน้าวชักจูงใจผู้อ่านได้ คนเขียนเป็นจะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่างๆได้ เช่น เมื่อได้อ่านหนังสือที่ผู้เขียนเขียนแล้วเกิดอารมณ์สนุกสนาน เกิดอารมณ์เห็นใจ เกิดอารมณ์อยากช่วยเหลือ เกิดอารมณ์โกรธเกลียด เกิดอารมณ์เศร้า ฯลฯ
กล่าวคือ คนที่พูดเป็น คนที่เขียนเป็น คือ คนที่พูดหรือเขียน แล้วทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจตรงกับที่ผู้พูดหรือผู้เขียนต้องการสื่อสาร
ซึ่งคนที่พูดเป็นและคนที่เขียนเป็น มักจะต้องฝึกฝนการพูดและการเขียน มีการพัฒนาปรับปรุงงานพูดและงานเขียนสม่ำเสมอ ซึ่งการเรียนรู้คงต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ หลักวิชา หากเรียนรู้จากประสบการณ์แต่ขาดหลักวิชาก็คงต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนแบบลองผิดแบบลองถูกมากขึ้น หากมีหลักวิชาเข้าช่วยก็คงทำให้มีหลักในการพูดและการเขียนจึงทำให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงได้ง่ายขึ้น
การพูด การเขียน เป็นทั้ง ศาสตร์และศิลป์
เป็น ศาสตร์ คือ เป็นความรู้ที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนได้ จากหนังสือ จากตำรา จากบทความ จากการอบรม จากการเรียนในห้องเรียน ฯลฯ
เป็น ศิลป์ คือ เป็นการประยุกต์ใช้ เป็นความสามารถของแต่ละบุคคล เป็นเทคนิควิธีการของนักพูดและนักเขียนแต่ละคน
 การพูดและการเขียนเป็นศาสตร์ที่สามารถฝึกฝนได้ เช่นเดียวกับศาสตร์อื่น นักดนตรีก็ต้องเรียนรู้ วิธีเล่นดนตรี เมื่อเริ่มเล่นเป็นแล้วอยากให้เก่งขึ้นก็ต้องหมั่นฝึกซ้อม ยิ่งซ้อมบ่อยยิ่งเก่งขึ้น อีกทั้งต้องหาเวทีในการแสดงดนตรีเพื่อให้มีชื่อเสียง เพื่อให้คนรู้จักว่าเป็นนักดนตรี
 นักพูดและนักเขียน ก็เหมือนกับนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักดนตรี นักมวย นักร้อง นักแสดง นักกีฬา ฯลฯ ดังนั้นคนที่ต้องการเป็นนักพูดกับนักเขียน จะต้องหมั่นศึกษา ต้องหมั่นขยันฝึกฝนการพูดการเขียนอยู่เสมอ ศึกษาเทคนิค วิธีการนำเสนอ การใช้ภาษา ถ้อยคำ ในการพูดและการเขียน
 สำหรับข้อแนะนำที่อยากฝากท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้คือ หากว่าท่านปรารถนาอยากเป็นคนที่พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดอย่างนักเขียน ขอให้ท่านจงฝึกฝนและพยายามปฏิบัติตามข้อแนะนำ อันได้แก่
1.ฝึกพูดให้มาก ฝึกเขียนให้มาก เมื่อท่านได้ฝึกการพูดมากๆ และฝึกการเขียนมากๆ ย่อมทำให้การพูดและการเขียนของท่านดียิ่งขึ้น การพูดและการเขียนก็จะพัฒนาเป็นลำดับ จนการพูดและการเขียนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรามากขึ้น แบ่งเวลาวันละ 10-20 นาที ฝึกการพูดด้วยตนเองทุกวัน ฝึกการเขียนด้วยตนเองทุกวัน เมื่อท่านทำไปได้ 1 เดือน ท่านก็จะเห็นความแตกต่างซึ่งเกิดจากผลของการฝึกการพูดและฝึกการเขียนของท่าน
2.ฟังให้มาก อ่านให้มาก การฟังมากๆ จะทำให้เรารู้ลีลา การพูดของนักพูดแต่ละคน แล้วเราสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเองได้ในอนาคต การอ่านมากๆ จะทำให้เรารู้ความแตกต่าง วิธีการเขียนของนักเขียนแต่ละคน แล้วเราสามารถนำมาพัฒนางานเขียนของเราได้
3.ตั้งเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายมีความสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในงานอาชีพต่างๆ คนที่ต้องการเป็นนักพูด นักเขียนก็เช่นกัน ควรเริ่มต้นตั้งเป้าหมายส่วนตัว ว่าตนเองต้องการเป็น นักพูด นักเขียน ระดับไหน หากต้องการเป็นนักพูด นักเขียน ระดับจังหวัด ก็คงพัฒนาตนเองไม่มากนัก แต่หากต้องการเป็นนักพูด นักเขียน ระดับชาติก็คงต้อง มีความพยายามมากขึ้น พัฒนาตนเองมากขึ้น ปรับปรุงตนเองมากขึ้น  เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ต้อง วางแผน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย และสุดท้ายต้องหมั่นตรวจสอบเป้าหมาย ตรวจสอบแผนการที่วางไว้
สำหรับข้อแนะนำข้างต้น หากท่านผู้อ่านนำไปปฏิบัติ กระผมเชื่อว่าท่านจะเป็นคนที่พูดเป็น เขียนเป็น อย่างนักพูดและนักเขียน
คำพูดและข้อเขียน จะมีประโยชน์มากหากว่าเราสามารถเลือกสื่อสารในช่วงสถานการณ์และเงื่อนเวลาที่เหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น