วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

จะเริ่มต้นอาชีพวิทยากรอย่างไร

ะเริ่มต้นอาชีพวิทยากรอย่างไร โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                กระผมเชื่อว่า การเริ่มต้นเป็นวิทยากรของวิทยากรในอดีตและปัจจุบัน มีเส้นทางที่แตกต่างกัน สำหรับตัวกระผมเอง เรียนจบปริญญาตรีมาก็ไม่เคยคิดประกอบอาชีพนี้ แต่ดันไปทำงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เกือบ 5 ปี แล้วไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร และ มหาวิทยาลัยพะเยา เกือบ 13 ปี แล้วจึงลาออกมาเป็นวิทยากรอิสระ ซึ่งอาชีพอาจารย์ประจำกับวิทยากรอิสระมีความแตกต่างกัน เช่น การนำเอาวิธีการสอนของนิสิต นักศึกษา ในห้องเรียน มาใช้กับคนทำงานในห้องฝึกอบรม มักใช้ไม่ค่อยได้ผล ,  การบรรยายในห้องเรียน 3 ชั่วโมง มีหนังสือ ตำรา อุปกรณ์ต่างๆ แต่พอเป็นวิทยากรใหม่ๆถูกเชิญไปพูดหัวข้อสั้น เช่น “ การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ”  3 ชั่วโมง กระผมขอสารภาพว่า นั่งกลุ้มเลย ไม่รู้จะเอาอะไรไปพูด เพราะกระผมเคยฝึกพูดที่ สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย , ชมรมปาฐกถาและโต้วาที (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ,สโมสรฝึกการพูดต่างๆ เขาให้ฝึกพูดแค่ 5-8 นาที เป็นต้น
                แต่เมื่อกระผมได้ผ่านเวทีต่างๆมามาก ผ่านประสบการณ์มามาก บางเวทีอาจประสบความสำเร็จ บางเวทีก็อาจจะล้มเหลว มันต้องทดลองหลายแบบ จนในที่สุด ประสบการณ์ต่างๆ ก็จะสะสม จนเราเองเกิดความชำนาญ หากถูกเชิญให้พูดเรื่องเดียวกัน เช่น “ การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ” 3 ชั่วโมง ในปัจจุบัน กระผมอาจขอสัก 6 ชั่วโมง เพราะไหนๆก็จะไปพูดทั้งทีแล้ว เสียค่าเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายแล้ว  ไปแล้วต้องเอาให้คุ้ม  แต่สำหรับคนที่ต้องการจะเป็นวิทยากรอิสระกระผมขอแนะนำดังนี้
                1.ท่านควรเลือกหัวข้อหรือหลักสูตรที่ท่านมีความถนัด ท่านมีความรู้ ที่จะสามารถถ่ายทอดได้  เช่น การพูดต่อหน้าที่ชุมชน ,  ขายอย่างเซียน , ครบเครื่องนักบริหาร , การบริการสู่ความเป็นเลิศ ฯลฯ
                2.หาโอกาส หลังจากนั้นควรหาเวทีบรรยายหรือนำเสนอตัวต่อหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการที่จะฟัง หัวข้อหรือหลักสูตรที่ท่านบรรยาย ช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ท่านอาจจะรับบรรยายให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง พัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรของท่าน  เช่น ไปบรรยายที่ วัด สถาบันการศึกษา สโมสร สถาบัน ชมรม ฯลฯ
                3.นำเสนอหลักสูตรแก่สถาบันต่างๆหรือบริษัทรับจัดฝึกอบรม เมื่อท่านมีความมั่นใจว่าหลักสูตรที่ท่านไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ท่านสามารถบรรยายด้วยความเชื่อมั่น ลำดับต่อไปท่านควรนำเสนอหลักสูตรนั้น แก่ สถาบันหรือบริษัทรับจัดฝึกอบรม เพื่อให้สถาบันหรือบริษัทรับจัดฝึกอบรมหาลูกค้าให้แก่ท่าน
                4.สร้างเครือข่าย แสวงหากลุ่ม หรือ บุคคลที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเพื่อช่วยเหลือกัน ท่านควรสมัครเข้า สถาบันหรือองค์กรต่างๆ ที่สามารถนำพาท่านให้มีโอกาสได้ไปบรรยายหรือได้เป็นวิทยากรมากยิ่งขึ้น เช่น  สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย  ,  สโมสรฝึกการพูดต่างๆ ,  สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ฯลฯ
                5.ถือกระเป๋า เดินตามวิทยากรรุ่นพี่ หากท่านมีความมุ่งมั่นในเส้นทางวิทยากรอิสระจริง ท่านอาจจะต้องลงทุนเพิ่มพูนประสบการณ์ ด้วยการเรียนรู้  คอยรับใช้ คอยให้ความช่วยเหลือ วิทยากรมืออาชีพ เพื่อจะได้เรียนรู้ เทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา  ตัวอย่าง แบบฝึกหัด ฯลฯ
                6.โปรโมทตัวเองบ้าง สินค้าที่ดีหากไม่มีใครรู้จักก็มักจะขายสู้สินค้าที่ไม่ดีแต่มีคนรู้จักไม่ ได้   จงจัดหางบประมาณในการลงทุนโปรโมทตนเองบ้าง เช่น ลงทุนทำเว็บไซต์ส่วนตัว , ลงทุนโฆษณาตามสื่อต่างๆ , ลงทุนทำหนังสือที่ตนเองแต่งขาย ฯลฯ หรือ อาจจะลงทุนโปรโมทตัวเองแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การเขียนบทความลงตามสื่อต่างๆ อาทิ ในหนังสือพิมพ์ ในวารสาร ในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
                ดังนั้น ท่านสามารถเริ่มต้นอาชีพวิทยากรอิสระได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ โดยการเลือกหัวข้อหรือหลักสูตรที่ท่านต้องการบรรยาย , หาโอกาสให้กับตัวเอง , นำเสนอหลักสูตรแก่สถาบันต่างๆหรือบริษัทรับจัดฝึกอบรม , สร้างเครือข่าย  , ถือกระเป๋า เดินตามวิทยากรรุ่นพี่ และ รู้จักที่จะโปรโมทตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น