วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

จะพูดให้ดี…ต้องรู้จักสร้างความเชื่อมั่น...

จะพูดให้ดี…ต้องรู้จักสร้างความเชื่อมั่น...
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                บุคคลไม่ว่าจะมีความรู้มากมายขนาดไหน มีการศึกษาสูงเพียงไร แต่หากขาดซึ่งความเชื่อมั่นแล้ว เขาก็ไม่สามารถนำเอาความรู้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและประเทศชาติได้ เข้าทำนองคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ”
                ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ไม่มีการศึกษาสูง ไม่มีปริญญา มีการศึกษาน้อยนิด แต่เขาสามารถเป็นผู้นำและเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังเช่น ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำของเยอรมัน ไม่ได้เรียนจบปริญญา แต่ด้วยความเชื่อมั่น เขาสามารถพูดชนะใจ ประชาชนชาวเยอรมัน และสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไปในแนวทางที่เขาวางไว้ได้
                ซึ่งความเชื่อมั่นนี้ ผู้ที่ต้องการเป็นนักพูด จะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเชื่อมั่นในข้อมูลหรือความรู้ที่ตนเองได้เตรียมไว้ มีความเชื่อมั่นในความคิดความอ่านของตนเอง เพราะว่าหากท่านมีความเชื่อมั่นในตนเอง ท่านสามารถเป็นอะไรก็ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเป็นนักพูด
                ความเชื่อมั่นนี้มีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน เพราะถ้าหากผู้พูดไม่เชื่อมั่นในตนเองแล้ว ผู้ฟังก็มักจะไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีความศรัทธาในตัวของผู้พูด  ความเชื่อมั่นนี้ยังรวมถึงการแสดงออกภายนอกของผู้พูดอีกด้วย เช่น ท่าทาง บุคลิกภาพ น้ำเสียงในการพูด สีหน้า ฯลฯ
                ความประหม่า ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวทำลายความเชื่อมั่น ซึ่งวิธีแก้ความประหม่า เคยมีครูอาจารย์หลายท่านที่ได้แนะนำไว้ว่า ผู้พูดควรพูดเสียงดังกว่าปกติเพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้น แล้วค่อยเบาเสียงลงให้อยู่ในภาวะปกติ หรือ ก่อนพูดควรดื่มน้ำเย็นเพียงสักเล็กน้อย ต้องขอย้ำนะครับว่า เพียงสักเล็กน้อย เพราะถ้าบางท่านนำคำแนะนำไปใช้แต่ดันดื่มมาก จะทำให้เกิดการปวดฉี่ได้ในเวลาพูดบนเวที หรือ ก่อนขึ้นพูดควรพูดปลุกกำลังใจตนเองในใจ เช่น สู้ตาย , การพูดในหัวข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ดีที่สุด , ใครเต็มที่ไม่เต็มที่ไม่รู้เราเต็มที่ไว้ก่อน ฯลฯ
                ฉะนั้น หากใครสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้นนี้ ก็จะช่วยลดความประหม่าไปได้บางส่วน แต่ข้อแนะนำที่สำคัญที่สุด ในการแก้ความประหม่าก็คือ ท่านต้องขึ้นพูดบ่อยๆ นั้นเอง เพราะ ถ้าเรากลัวสิ่งไหนแล้วเราทำสิ่งนั้น ความกลัว ความประหม่า ก็จะลดน้อยลงไปเอง
 และไม่ควรเชื่อคำแนะนำที่ผิดๆ เนื่องจากบางท่านมีอาการประหม่า จึงไปถามเพื่อนฝูงว่าจะแก้ไขอย่างไร เพื่อนฝูงบางท่านจึงแนะนำให้ไปดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ หรือ เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์  ซึ่ง หากท่านใดปฏิบัติตามอาจก่อให้เกิดปัญหาได้มากกว่าที่จะแก้ปัญหา เนื่องจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ เมื่อดื่มไปมากๆ มักทำให้ผู้พูด ขาดสติหรือมีสติลดน้อยลง อาจทำให้เกิดการผิดพลาดในการพูดได้
                แต่ หากว่าเรามองโลกในแง่ดี ความจริงความประหม่า ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะเจ้าตัวประหม่านี้จะทำให้นักพูดท่านนั้น เกิดพัฒนาตนเองได้มากขึ้น เนื่องจากหากข้อมูลไม่พร้อม การเตรียมตัวไม่ดี ก็อาจจะทำให้เกิดความประหม่าหรือความกลัว ฉะนั้น เพื่อลดความประหม่าและลดความกลัว จึงทำให้เกิดการเตรียมข้อมูลมากขึ้น เตรียมการพูดมากขึ้น เมื่อเตรียมการพูดมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจในการพูดยิ่งขึ้น
                ตรงกันข้าม หากผู้ใดไม่มีความประหม่า ไม่วิตกกังวลเลย ก็จะทำให้ผู้นั้นประมาท ซึ่งมีผลทำให้ขาดการเตรียมข้อมูล ขาดการเตรียมตัว ไม่ทำการบ้าน กล่าวคือมีความรู้แค่ไหนก็พูดแค่นั้น ทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ไม่มีคุณภาพ ไม่มีข้อมูลใหม่ๆ มานำเสนอ ขาดตัวอย่างประกอบ

                ดังนั้น หากท่านปรารถนาจะเป็นนักพูด ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ไม่มีใครหรืออิทธิพลอันใดที่จะช่วยท่านได้ นอกจากตัวของท่านเอง ตัวเราเองต่างหากที่กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง ว่าเราจะเป็นนักพูด ตามที่เราใฝ่ฝันได้หรือไม่  ตัวเราเองต่างหากต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง  เราจะเป็นนักพูดระดับธรรมดาสามัญ หรือ นักพูดที่ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความปรารถนาอย่างแรงกล้าในตัวของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น