วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

การสร้างความน่าเชื่อถือในการพูด

การสร้างความน่าเชื่อถือในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ในการพูดแต่ละครั้ง ผู้ฟังมักจะมีความเชื่อถือ ศรัทธาผู้พูดมากน้อยเพียงใด มักขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้ง 3 ปัจจัย ดังนี้
                1.ตัวผู้พูด ตัวผู้พูดสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้โดย
                - .การสร้างบุคลิกภาพ บุคลิกภาพของผู้พูดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเหลื่อมใส ศรัทธา เชื่อถือหรือไม่ เช่น การแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ , การใช้ท่าทางประกอบการพูด , การพูดให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ตลอดจนการใช้สายตา น้ำเสียง การเดิน การทรงตัว การใช้ภาษา การแสดงสีหน้า การใช้ไมโครโฟน ฯลฯ
                -  เทคนิคการพูดที่นำเสนอ เช่น พูดให้ผู้ฟังกลัว เมื่อผู้ฟังกลัวผู้ฟังมักจะเชื่อแล้วยอมปฏิบัติตาม , พูดให้ผู้ฟังอยาก เมื่อผู้ฟังมีความอยากแล้วผู้ฟังก็มักจะเชื่อและยอมทำตาม , พูดด้วยความมั่นใจ หากผู้พูดพูดด้วยความไม่มั่นใจเสียแล้ว ผู้ฟังมักจะไม่เชื่อ ฯลฯ
                2.เรื่องที่นำเสนอ เราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้จากเรื่องที่นำเสนอ ส่วนใหญ่แล้วผู้ฟังมักเชื่อเรื่องที่ผู้พูด พูดนำเสนอ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟัง เช่น เรื่องที่นำเสนอนั้น ผู้ฟังได้ประโยชน์อะไรบ้าง (หาเงินได้มากขึ้น,ประหยัดเวลา,ได้เลื่อนตำแหน่ง,ทำงานได้ดีขึ้น), เรื่องที่นำเสนอนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่(อ้างงานวิจัย ,อ้างกฎหมาย ,อ้างระเบียบ)  , เรื่องที่นำเสนอนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ฯลฯ
                3.เหตุผลที่นำมาประกอบการพูด  ผู้พูดอาจชักจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อถือได้ โดยการใช้หลักฐานประกอบ เช่น มีการอ้างอิงตำรา , มีการอ้างอิงสุภาษิต คำพังเพย , มีการอ้างอิงบุคคลสำคัญๆ (พระพุทธเจ้า , นักปราชญ์ , พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , พระเยซู ฯลฯ) , มีการอ้างอิงวัฒนธรรม ประเพณีหรือสิ่งที่ทุกคนให้ความเคารพบูชา  , มีการอ้างอิงผลได้ผลเสียของเรื่องที่นำมาพูด , มีการอ้างอิงประชามติหรือเสียงในที่ประชุม , มีการอ้างอิงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ฯลฯ
                ทั้งการพูดให้ผู้ฟังเชื่ออาจจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น การจะพูดให้คนอื่นเชื่อ ตัวผู้พูดต้องมีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวก่อน ,  การจะพูดให้ผู้ฟังกลุ่มใหญ่ๆ เชื่อ เรื่องของจิตวิทยาฝูงชนมีความสำคัญซึ่งผู้พูดจำเป็นจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติม , ผู้ฟังมักจะฟังหรือเชื่อถือ ผู้พูดที่มียศ มีตำแหน่ง มีหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องที่พูด , ผู้พูดต้องพูดด้วยความจริงใจ พูดด้วยอารมณ์ พูดเข้าไปนั่งในหัวใจผู้ฟัง ฯลฯ
                อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ว่าผู้ฟังคือใคร  นักขาย  เจ้าหน้าที่  อาจารย์  ครู  นักเรียน  นิสิต  นักศึกษา ฯ,ฯ เพศของผู้ฟังคือใคร ผู้หญิงฟังหรือผู้ชายฟัง  วัยไหน วัยเด็ก  วัยรุ่น  วัยทำงาน วัยชรา , ความเชื่อของผู้ฟัง การนับถือศาสนา , การศึกษา ฐานะ อาชีพ ความสนใจ ของผู้ฟัง
                ท้ายนี้ขอทิ้งท้ายด้วยบทกลอนของท่านอาจารย์วสันต์  พงศ์สุประดิษฐ์ ว่า
                “ อันจูงวัว   จูงควาย   จูงล่อลา                             หรือจูงม้า  จูงช้าง  ช่างแสนง่าย
                  แค่เอาเชือก  ร้อยวน  สนตะพาย                        จูงสบาย  จะไปไหน  ก็ไปกัน
                แต่จูงคน  จูงยาก   ลำบากเหลือ                            จูงให้เชื่อ   ในวจี   ที่เสกสรร
                พูดจูงใจ   ให้คล้อยตาม  ลำบากครัน                   ต้องเหนือชั้น  วิทยา   วาทะการ ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น