วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

หัวใจนักปราชญ์

หัวใจนักปราชญ์
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                เมื่อเอ๋ยคำว่า “ หัวใจนักปราชญ์ ” หลายๆท่านมักนึกถึงคำว่า สุจิปุลิ
สุ             ย่อมาจาก                                สุตต        คือ การฟัง
จิ              ย่อมาจาก                                จินตน     คือ การคิด
ปุ             ย่อมาจาก                                ปุจฉา      คือ การถาม
ลิ             ย่อมาจาก                                ลิขิต        คือ การเขียน
                สุ-สุตตหรือการฟัง จะทำให้เราได้รับความรู้ ข้อมูล แง่มุม ความคิดต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลที่เป็นนักปราชญ์ มักจะเป็นคนที่ฟังมาก อ่านมาก แต่เนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลจึงมีมากมาย ฉะนั้น บุคคลที่ได้ชื่อว่านักปราชญ์มักจะเป็นคนที่มีการคัดเลือกข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวมมาฟัง มาอ่าน มาศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในตนเอง
                จิ-จินตนหรือการคิด การคิดมีความสำคัญมาก เมื่อได้รับข้อมูล จากการฟังและการอ่านแล้ว แต่คนๆนั้นไม่สามารถมีความคิดเป็นของตนเองได้  ได้แต่นำความคิดของบุคคลอื่นมาใช้ก็เปล่าประโยชน์ คนที่คิดไม่เป็นมักเป็นคนเชื่อคนง่าย ถูกหลอกได้ง่ายกว่าคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง
                ปุ-ปุจฉาหรือการถาม เมื่อเกิดความสงสัย เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ จึงต้องถาม แต่สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่มาก เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากมักไม่กล้าถาม อาจเป็นเพราะ อายเพื่อน กลัวครู อาจารย์  ความไม่กล้า ฯลฯ แต่แท้ที่จริงแล้ว การถามจะทำให้เราได้รับความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เพิ่มขึ้นอีกมาก
                ลิ-ลิขิตหรือการเขียน  การเขียนมีประโยชน์หลายอย่าง การเขียนช่วยให้การคิดเป็นระบบขึ้น เพราะก่อนที่เราจะเขียนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรียงความ จดหมาย สารคดี นิยาย ฯลฯ เราจะต้องมีการคิดขึ้นมาก่อน ฉะนั้นการเขียนจึงเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาความคิดต่างๆของคนเราได้มาก อีกทั้งการเขียนยังช่วยพัฒนาความจำของคนเราด้วย  “ จำดีกว่าจด แต่ถ้าจำไม่หมด ให้จดแล้วค่อยจำ” เป็นคำพูดที่เป็นความจริงมากทีเดียว เช่น ตอนเราเรียนหนังสือ หากว่าครู สอนที่หน้าชั้นในห้องเรียน หากเราไม่ยอมจดหรือเขียน จะใช้วิธีจำอย่างเดียว ก็อาจจะจำไม่ได้ทั้งหมด แต่คนที่มีหัวใจนักปราชญ์ เขาจะจดแล้วนำมาทบทวนอีกครั้ง เขาถึงสอบได้คะแนนมากกว่าคนที่ไม่ยอมจดหรือเขียน
                ดังนั้น หากใครสามารถปฏิบัติได้ทั้ง 4 ข้อ คือ สุจิปุลิ ท่านสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก ถึงแม้ท่านจะไม่ใช่นักปราชญ์ แต่กระผมเชื่อว่าชีวิตของท่านจะมีการพัฒนาไปได้เป็นอันมาก จงใช้เวลาในการฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนา แล้วไม่แน่ในอนาคต ท่านอาจจะได้ชื่อว่าเป็น นักปราชญ์ที่มีผู้คนยกย่องคนหนึ่งก็ได้
ฟังให้มาก คิดให้เป็น หมั่นสอบถามและฝึกการเขียน จึงเป็นหัวใจของนักปราชญ์อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น