วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

เขียนอย่างไรให้ผู้อ่านชอบ

เขียนอย่างไรให้ผู้อ่านชอบ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                                การเขียนไม่ว่าเราจะเขียนในประเภทไหน เช่น บทความ สารคดี เรื่องสั้น นิยาย ตำรา ฯลฯ เรามักอยากให้ผู้อ่านชอบงานเขียนของเรา อยากติดตามผลงานเขียนของเรา  ซึ่งวิธีที่จะทำให้เขาติดตามหรือชอบงานเขียนของเราได้นั้น สามารถทำได้โดย
                1.จงเขียนเรื่องที่เรารู้  การเขียนเรื่องที่เรารู้ จะทำให้ผู้เขียนสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งผู้เขียนได้อ่านมามากพอสมควร แล้ว มาทำการต่อยอดความรู้ให้มีความรู้ที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น มากขึ้น อีกทั้งผู้เขียนควรเขียนให้เกิดความแตกต่างจากงานเขียนของผู้อื่น เช่น ต้องมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกหรือแง่มุมที่แปลกแตกต่างจากนักเขียนท่านอื่น เพราะหากผู้เขียน เขียนคล้ายคลึงกัน งานเขียนนั้นก็คงไม่ได้มีความแตกต่างจากงานเขียนของคนอื่นมากนัก แต่หากผู้เขียนเสนอแง่มุมที่ตลก แง่มุมที่คนไม่คิดกัน งานเขียนของผู้เขียนก็จะเกิดความแตกต่างขึ้นมาทันที และทำให้ผู้อ่านชื่นชอบในความคิดอ่านของผู้เขียนได้
                2.รู้จักจังหวะเวลา การจะทำหนังสือให้ขายดีหรือให้คนซื้อเป็นจำนวนมากนั้น ผู้เขียนอาจต้องเลือกจังหวะ ในการขายหนังสือ  เช่น  เมื่อสังคมเกิดภาวะวิกฤต คนต้องการกำลังใจ เราก็ควรเขียนหนังสือในแนวทางการให้กำลังใจ การพัฒนาตนเอง ธรรมะ ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ในสภาพสังคมในขณะนั้น หากทำได้ดังนี้ ผู้อ่านก็จะซื้อหนังสือของเรามากขึ้น เมื่อมีโอกาสได้อ่านก็มักจะชอบหนังสือที่เราเขียนมากขึ้นไปด้วย
                3.ต้องเขียนให้เกิดความหลากหลาย เช่น ใช้คำ เล่นคำ มีโวหาร มีสำนวน มีอุปมาอุปมัย การเขียนตัวอย่างต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพพจน์ มีลีลาในการนำเสนอที่มีความหลากหลายในแบบฉบับของตัวเอง มีการสอดใส่อารมณ์เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกถึงอารมณ์นั้น กล่าวคือ เมื่ออ่านแล้ว เกิดความประทับใจจนทำให้เกิดน้ำตาไหลออกมาได้
                4. ต้องเขียนให้เกิดความชัดเจน กระชับ  ไม่ยืดยาด ซับซ้อน งานเขียนที่ผู้อ่านชื่นชอบ มักสื่อความหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ประเภท ที่อ่านเสร็จแล้ว เกิดอาการ งง สับสน ไม่เข้าใจ ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน ฉะนั้น ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ
                5.เขียนในสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อ  การเขียนก็มีลักษณะเดียวกันกับการพูด กล่าวคือ หากผู้พูดต้องการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อถือ ศรัทธา ผู้พูดต้องมีความเชื่อในเรื่องนั้นๆ ก่อน การเขียนก็เช่นกัน หากผู้เขียนมีความเชื่อ มีความศรัทธา ในเรื่องที่ตนเองเขียน งานเขียนนั้นก็สามารถโน้มน้าวหรือชักจูงในผู้อ่านเชื่อถือ ศรัทธาได้เช่นกัน
                6.จงเขียนในแนวทางของตนเอง เนื่องจากงานเขียนมีหลายประเภท เช่น นิยาย สารคดี บทความ ข่าว ตำรา ฯลฯ ผู้เขียนควรเขียนในแนวทางที่ตนเองถนัด หากมีความถนัดการเขียนบทความ ก็ควรพัฒนางานเขียนของตนเองในแนวประเภทของบทความให้มากขึ้น อีกทั้งไม่ควรไปลอกเลียนสไตล์การเขียนของผู้อื่น จงเป็นตัวของตัวเอง
                7.จงพัฒนาความคิด ให้คิดนอกกรอบ คิดแตกต่าง คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดวิจารณ์ คิดเปรียบเทียบ คิดจินตนาการ การพัฒนาความคิดจะทำให้งานเขียนของเราดีขึ้น เราคงไม่ปฏิเสธว่า งานเขียนของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้เขียน Harry Potter จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี หรือแม้แต่นักเขียนชาวไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ท่านสุนทรภู่ กับงานเขียนเรื่องพระอภัยมณี  ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้เขียนทั้งสิ้น จงพัฒนาความคิดแล้วงานเขียนของท่านจะดีขึ้น ผู้อ่านก็จะชื่นชอบในความคิดของท่าน
                และอีกหลากหลายปัจจัย ที่ท่านสามารถพัฒนางานเขียนของท่านเพื่อให้เกิดความประทับใจ เกิดความเชื่อถือ ศรัทธา ในงานเขียนของท่าน เพราะงานเขียนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ท่านสามารถหาความรู้ได้ ฝึกฝนได้ มีแบบฉบับ เทคนิค วิธีการของตนเองได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น