วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

พูดอย่างไรเรียกว่าพูดอย่างฉลาด

พูดอย่างไรเรียกว่าพูดอย่างฉลาด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อันพูดนั้นไม่ยาก                                ปานใด เพื่อนเอย
ใครที่มีลิ้นอาจ                                   พูดได้   สำคัญแต่ในคำ     
ที่พูด นั่นเอง                                อาจจะทำให้ชอบ    และชัง
                                                                                                                พระราชนิพนธ์ดุสิตสมิต
              
                จากพระราชนิพนธ์ดุสิตสมิต ทำให้เราทราบถึงความสำคัญของคำพูด ว่าการพูดนั้นทำให้คนชอบก็ได้ หรือคนชังก็ได้ จึงขึ้นอยู่กับคนที่ใช้คำพูดนั้นๆ ซึ่งการพูดหรือคำพูดที่มีลักษณะที่ดี และคนที่ฉลาดมักเลือกใช้มักจะมีลักษณะดังนี้
                1.เป็นคำพูดที่แสดงถูกกาล กล่าวคือ เป็นคำพูดที่พูดถูกจังหวะ ถูกเวลา ถูกสถานที่
1.1.การพูดถูกจังหวะ คนมักชอบ ดังคำที่เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า “ พูดมากก็มากเรื่อง พูดน้อยก็พลอยเคียง ไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง แต่การพูดผิดจังหวะคนมักชัง ตัวอย่าง ในการสนทนากัน  บางคน พูดไม่ถูกจังหวะ เขาพูดยังไม่จบรีบพูดแทรกในขณะที่คนอื่นพูดไม่จบ การพูดที่ผิดจังหวะนี้เมื่อทำบ่อยๆ คนที่สนทนาด้วยก็มักจะไม่ชอบ แต่เขามักจะชัง
1.2.การพูดถูกเวลา คนมักชอบ แต่การพูดผิดเวลาคนมักชัง ดังนั้น ในบางกรณี ก่อนที่เราจะพูด เราควรถามอีกฝ่ายหนึ่งก่อนว่า  “ ขอโทษครับ ผมขอเวลาปรึกษาเรื่อง...ไม่ทราบว่าคุณจะพอมีเวลาว่างให้ผมไหมครับ ”
1.3.การพูดถูกสถานที่ การพูดเรื่องบางเรื่องเราก็ไม่ควรนำไปพูดในบางสถานที่ เช่น เขากำลังทำพิธีสวดศพอยู่ เราดันไปพูดเรื่องตลก หัวเราะชอบใจในงานศพ เมื่อเจ้าภาพเห็นเขาอาจ ไม่รู้สึกสนุกเหมือนเราสนุกก็เป็นได้
2.น้ำเสียงสอดคล้องกับเรื่องที่พูด  น้ำเสียงมีความสำคัญต่อเรื่องที่พูด มีคนเคยกล่าวว่า “ ภาษาสื่อถึงความหมาย
แต่น้ำเสียงก่อให้เกิดความหวั่นไหวในใจ ” คำพูดดังกล่าวมีความเป็นจริงมากอยู่ทีเดียว เช่น เรากล่าวแสดงความเสียใจในการจากไปของบิดาของเพื่อนสนิท แต่เรากล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น ดีใจ ชอบใจ เพื่อนจะมีความรู้สึกเช่นไร ถึงแม้เราจะใช้ภาษาที่บอกว่าเราเสียใจนะ แต่น้ำเสียงเราไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้เพื่อนเรา ชังเราได้
                3.มีอารมณ์ขันบ้าง การพูดที่ทำให้คนชื่นชอบ มักเป็นคำพูดที่ทำให้คนหัวเราะ ดังนั้น หากผู้พูดท่านใดเป็นนักสะสมอารมณ์ขัน หรือ เรื่องราวที่สนุกๆ คนมักจะชื่นชอบ อีกทั้งทำให้มีเพื่อนมาก คนอยากรู้จัก แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ผู้พูดควรต้องรู้จักวิเคราะห์ เนื้อหาในข้อที่ 1 เพิ่มด้วย คือ ควรใช้อารมณ์ขันให้ถูกกาล (ถูกจังหวะ ถูกเวลาและถูกสถานที่)ด้วย
                4. พูดให้เนื้อหามีความชัดเจน ชวนติดตาม ผู้พูดที่ผู้ฟังชื่นชอบ มักพูดเนื้อหาให้มีความชัดเจน อีกทั้งยังทำให้เกิดการติดตาม มีการจัดลำดับในการพูดเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ผู้ฟังไม่สับสน มีการพูดเรื่องที่ใกล้ตัวผู้ฟัง ผู้ฟังจึงสนใจที่อยากจะฟัง
                5.ภาษาที่มีความเหมาะสมกับเรื่องและผู้ฟัง  ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศมากจนเกินไปหากพูดกับผู้ฟังที่เขาไม่มีความรู้ในภาษา นั้น หรือ คำศัพท์ในวงการนั้นๆ  ไม่ควรมีคำฟุ่มเฟือย คำแสลง มากจนเกินไป  หลีกเลี่ยงการระบุชื่อ หากสื่อถึงผู้นั้นในทางที่เสียหาย เพราะอาจทำให้เกิดโทษมากกว่า ประโยชน์ บางครั้ง ผู้พูด ใช้คำพูดที่ระบุถึง ความเสียหายของบุคคลโดยระบุชื่อ ก็อาจจะถึงกับขึ้นโรง ขึ้นศาลไปเลยก็มีมาแล้ว เพราะอาจโดนผู้ที่เสียหายฟ้องหมิ่นประมาทได้
                6.การให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม การพูดโดยเฉพาะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน หากผู้พูดเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมก็จะทำให้ผู้ฟัง มีความสุขที่ได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง ดังนั้น ผู้พูด เมื่อพูดไป ก็ควรตั้งคำถามให้ผู้ฟังตอบหรือขอให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดัง กล่าวที่ผู้พูดพูด เพราะผู้ฟังอาจจะไม่สนใจในสิ่งที่ผู้พูด พูดเลย หากผู้พูดไม่ให้ความใส่ใจในตัวผู้ฟัง
                การพูดที่พูดถูกกาล , การใช้น้ำเสียง ,การใช้อารมณ์ขัน , การพูดให้เกิดความชัดเจน , การใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมและการให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม ในการพูด จึงเป็นสิ่งที่ผู้พูดที่ฉลาดควรกระทำกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น