วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศาสตร์การเขียน

ศาสตร์การเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย  ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน ท่านจะต้อง เขียน เขียน และเขียน
การเขียนเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของผู้ที่ต้องการการเป็นนักปราชญ์ จะต้องทำการฝึกฝน คือ สุ จิ ปุ ลิ
ซึ่งการเขียนจะว่ายากก็ยาก แต่คงไม่ยากเกินความสามารถ  สำหรับที่บุคคลต้องการเป็นนักเขียนหรือต้องการเขียนเป็น
                ในยุคปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร การจัดการองค์ความรู้จึงมีความสำคัญมาก การเขียนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งมีมากมาย มีความกระจัดกระจาย  สังคมใดที่สามารถจัดการองค์ความรู้ ออกมาเป็นหนังสือเป็นเล่ม มักจะทำให้คนในสังคมนั้นๆ เกิดการเรียนรู้มากขึ้น มีการคิด มีการเขียนต่อยอดองค์ความรู้มากขึ้น
                พวกเราคงเคยเล่นเกมส์ เกมส์หนึ่ง คือ ให้ผู้เข้าร่วมเล่นเกมส์ต่อแถวกัน 2-3 แถว แล้วให้แข่งขันกันโดยผู้ดำเนินเกมส์ให้ให้กระดาษมาแผ่นหนึ่งซึ่งเขียนข้อความประโยคหนึ่ง แล้วให้ผู้เข้าเล่นเกมส์แข่งขันกันกระซิบต่อๆกัน จนถึงคนสุดท้าย ปรากฏว่า ข้อความที่กระซิบต่อต่อกันเกิดการผิดพลาดจากข้อความเดิมของคนที่ส่งข่าวสารให้คนแรก แต่ในทางกลับกัน หากเกมส์นี้ เปลี่ยนจากการกระซิบกัน แต่ผู้ดำเนินเกมส์ให้ส่งกระดาษที่เขียนประโยค แล้วส่งกระดาษให้ผู้เล่นเกมส์เป็นแถว จนถึงคนสุดท้ายให้อ่านข้อความในประโยคนั้น รับรองได้ว่าข้อสารนั้นจะไม่เกิดการผิดพลาด เพราะทุกคนที่เล่นเกมส์ก็จะอ่านประโยคในกระดาษที่เขียนเหมือนกันหมด
                นี่คือความแตกต่างระหว่างการพูดกับการเขียน ถ้าสังคมใดมีการจัดการองค์ความรู้ด้วยการเขียน ก็จะทำให้คนรุ่นหลังได้เกิดการเรียนรู้ต่อๆกันไป แต่หากส่งต่อองค์ความรู้ด้วยการพูด การสื่อสารนั้นก็อาจคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับผู้ที่คิดค้นต้องการสื่อออกไป
                การเขียนที่ดีมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ซึ่งผู้เขียนอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  บางคนเขียนเพื่อการบันทึก บางคนอาจจะเขียนเพื่อให้ความรู้  บางคนเขียนเพื่อให้ความเพลิดเพลิน บางคนเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์ บางคนเขียนเพื่อแจ้งข่าวสาร ฯลฯ
                อีกทั้งการเขียนมีหลากหลายประเภท เช่น การเขียนบทความ  การเขียนสารคดี  การเขียนนวนิยาย การเขียนเรื่องสั้น การเขียนเรียงความ ฯลฯ
                สำหรับผู้ที่ต้องการหัดเขียน กระผมขอแนะนำว่าท่านควรหัดเขียนตามแนวทางที่ตนถนัดก่อน ก็จะทำให้การเขียนของเราเขียนได้ง่ายขึ้น เขียนได้เป็นธรรมชาติขึ้น บางคนไม่รู้ว่าตนเองถนัดการเขียนในแนวไหน
ก็ลองสังเกตว่าตนเองชอบอ่านหนังสือประเภทไหน เพราะโดยมากคนที่อ่านหนังสือประเภทไหนก็มักจะมีความสนใจในหนังสือประเภทนั้น อีกทั้งท่านจะมีข้อมูลในการเขียนมากด้วย
                ถามว่าเมื่อรู้แนวการเขียนว่าตัวเองชอบงานเขียนในแนวไหนแล้ว แต่ทำไมเขียนไม่ออก อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น กลัวไม่มั่นใจ  ไม่มีเวลา ไม่รู้จะเขียนอะไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ฝึกหัดการเขียนควรต้องทำการแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
                ลองหาสาเหตุ ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดแล้วจึง ค่อยๆ หาทางแก้ไข อาจเป็นไปได้ว่า คนบางคนเขียนไม่ได้เนื่องมาจากการขาดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ เมื่อขาดแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ก็จะทำให้ผู้นั้นฝึกหัดการเขียนด้วยการขาดความกระตือรือร้น
                สรุป บุคคลที่ต้องการเป็น นักเขียนหรือต้องการฝึกเขียน ควรฝึกนิสัยในการรักการอ่าน หัดเป็นนักฟัง นักสังเกต  พยายาม หาทางพัฒนาการเขียนและปรับปรุงข้อบกพร่องในงานเขียนของตนเองตลอดเวลา สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าท่านอยากเป็นนักเขียน ท่านจะต้องเขียน เขียนและเขียน

หลักการทำงาน

หลักการทำงาน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพต่างๆ มักมีวิธีการทำงานเป็นของตนเอง ซึ่งวิธีการทำงานของคนนั้นๆ มักมีหลักการ อีกทั้งบุคคลที่ประสบความสำเร็จนั้นปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละคนมักมีวิธีการที่แตกต่างกันไปหรือบางคนอาจจะใช้วิธีการเดียวกัน  เช่น
                1.คนที่ประสบความสำเร็จบางคน ทำงานตรงต่อเวลาหรือทำงานเป็นเวลา ทำงานโดยความสม่ำเสมอ ไม่หยุดยั้ง เช่น นักเขียนที่ประสบความสำเร็จมีผลงานการเขียนมากมาย จะเป็นคนตรงเวลาหรือทำงานเป็นเวลา กล่าวคือ เมื่อมีการจัดเวลาทำงานในการเขียนหนังสือทุกๆวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น เขาก็จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พอถึงเวลา 9 โมง ก็จะเริ่มเข้าห้องแล้วลงมือเขียนทันที
                2.คนที่ประสบความสำเร็จบางคน มีหลักการทำงานคือ หาคนเก่งๆ เข้าช่วยงาน ซึ่งเป็นวิธีของนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ เพราะการหาคนเก่งๆ ช่วยทำงาน จะทำให้คนที่ประสบความสำเร็จมีเวลามากขึ้นในการคิดในการแก้ไข ในการวางแผนงานในอนาคตต่อไป ทำให้เหนื่อยน้อยลง
                3.คนที่ประสบความสำเร็จบางคน เป็นคนที่ต้องทำงานหนัก เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ต้องทำงานหนักมากวันละ 16 ชั่วโมง ท่านจึงสามารถผลิตหนังสือออกมาได้อย่างมากมาย อีกทั้งได้รับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆในชีวิตราชการ รวมทั้งตำแหน่งทางการเมือง ก็เนื่องมาจากการทำงานที่หนักของท่าน
                4.คนที่ประสบความสำเร็จบางคน มีทัศนคติในทางบวกอยู่เสมอ มีทัศนคติในการพึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่งดวง พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้เป็นคนที่มีการพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ มีการเปลี่ยนแปลงตนเอง มีการเรียนรู้งานตลอดเวลา
                5.คนที่ประสบความสำเร็จบางคน มักใช้เครื่องมือช่วยเพื่อให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันต้องยอมรับกันว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญมาก เทคโนโลยีทำให้เกิดความสะดวกสบาย เทคโนโลยีทำให้เกิดความรวดเร็ว และเทคโนโลยีทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ดังนั้นบุคคลที่ประสบความสำเร็จมักลงทุน อีกทั้งเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น ในยุคปัจจุบันเราคงไม่ปฏิเสธว่าใครที่รู้จักใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมักได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว เช่น การรับส่งจดหมาย หากใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเราสามารถรับส่งจดหมายได้ภายในเวลาไม่ถึงนาที แต่หากไม่มีความรู้ด้านดังกล่าวจำเป็นจะต้องเขียนจดหมายแล้วส่งไปรษณีย์ซึ่งต้องใช้เวลาในการรับส่งซึ่งนานกว่าการส่งทางอินเตอร์เน็ต
                6.คนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีลักษณะผู้นำ กล่าวคือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความพัฒนาตนเองสม่ำเสมอ ทางด้านการพูด บุคลิกภาพ มีความกล้าตัดสินใจ ซึ่งหลักการที่ดีในการตัดสินใจ ก่อนตัดสินใจทุกครั้งควรแสวงหาข้อมูลอย่างรอบด้านเสียก่อนแล้วจึงตัดสินใจ
                7.คนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นนักบริหารจัดการเวลา คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมง เท่ากันแต่การใช้เวลาของทุกๆคนไม่เหมือนกัน แต่บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักเป็นนักบริหารจัดการด้านเวลา กล่าวคือ ต้องแบ่งเวลาให้การทำงาน แบ่งเวลาให้แก่ครอบครัว แบ่งเวลาให้สังคมและแบ่งเวลาสำหรับการพักผ่อน
                ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นหลักการทำงานของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ ทั้งนี้แล้วแต่ใครเป็นผู้กำหนดหรือคิดค้น หลักการทำงานต่างๆ หากว่าท่านผู้อ่านต้องการประสบความสำเร็จลองฝึกฝนปฏิบัติและลองหาอ่านรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติม ท่านก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สามารถประสบความสำเร็จในการทำงานในสายอาชีพของท่านครับ

                คุณจะประพฤติตนอย่างไรในยามตกอับมีความสำคัญมากกว่าคุณจะประพฤติตนอย่างไรในยามรุ่งเรือง

เทคนิคการเป็นพิธีกร

เทคนิคการเป็นพิธีกร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                การสื่อสารทางการพูดมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การโต้วาที การแซววาที การยอวาที การเป็นวิทยากร การพูดทางการเมือง การพูดแบบทอล์คโชว์  การเป็นพิธีกร ฯลฯ
                ในบทความนี้ กระผมขอเขียนเรื่อง “ เทคนิคการเป็นพิธีกร ” การเป็นพิธีกรไม่ใช่ใครที่ถือไมโครโฟน ใครที่พูดได้จะเป็นพิธีกรได้กันหมดทุกคน ดังนั้นการเป็นพิธีกรที่ดีต้องมีหลักการ มีความเข้าใจในหน้าที่ มีประสบการณ์ มีไหวพริบปฏิภาณหลายๆอย่างประกอบกัน
                ความจริงถ้าพูดถึงพิธีกร พวกเราส่วนใหญ่จะติดภาพของคนที่ดำเนินรายการบนเวที แต่ความจริงแล้ว ความหมายหน้าที่ โอกาสในการเป็นพิธีกรมีมากกว่านั้น เช่น การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการทางวิทยุ โทรทัศน์ การเป็นพิธีกรดำเนินรายการอภิปราย แซววาที โต้วาที ยอวาที การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการงานพระราชพิธี การเป็นพิธีกรโฆษกของพรรคการเมือง และการเป็นพิธีกรในการแสดงต่างๆ ฯลฯ
                สำหรับบทบาทของคนที่ต้องทำหน้าที่พิธีกร คือ เป็นเจ้าของเวที เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี
                เป็นเจ้าของเวที กล่าวคือ เป็นผู้รับผิดชอบงานทุกอย่างบนเวทีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                เป็นผู้ดำเนินรายการ คือ เป็นผู้พูดเชื่อมโยงรายการต่างๆ บนเวที มีหน้าที่เชิญประธาน เชิญบุคคลต่างๆขึ้นมาพูดบนเวที  เป็นผู้ประสานงานต่างๆเช่น ประกาศข่าวสาร เชิญคนมาร้องเพลง เป็นผู้กำหนดว่าใครพูดก่อน ใครร้องเพลงก่อนใครร้องทีหลัง  เป็นต้น
                เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คลาดฝัน กล่าวคือ ไฟดับ ไมโครโฟนไม่ดัง มีเรื่องทะเลาะกันข้างล่างเวที พิธีกรต้องสามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ เป็นอย่างดีเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
                ลักษณะของงานพิธีกร บางเวทีมีพิธีกรเดี่ยว บางเวทีมีพิธีกรคู่  การเป็นพิธีกรคู่ เราจำเป็นจะต้องแบ่งสัดส่วนการพูดกัน ไม่ใช่มีพิธีกรชายและมีพิธีกรหญิงในงาน แต่พิธีกรชายแย่งพูดหมด พูดตั้ง 90 % แต่ให้พิธีกรหญิงพูดแค่ 10 % อย่างนี้ก็ดูไม่เหมาะสม อีกทั้งต้องดำเนินรายการในลักษณะสนทนากัน ไม่แย่งกันพูดบนเวที
                ทักษะของพิธีกรที่ควรมีคือ ต้องมีทักษะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ต้องรู้ลำดับก่อนหลัง ต้องรู้กาละเทศะ ต้องรู้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องภายในงาน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการเป็นพิธีกร เมื่อท่านทำหน้าที่พิธีกรบ่อยขึ้น ท่านก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
                สำหรับเทคนิคบางอย่างที่พิธีกรสามารถนำไปใช้แล้วทำให้งานพิธีกรออกมาดี คือ ระหว่างเชิญประธานขึ้นบนเวที ถ้าอยากให้ประธานดูดีหรืองานออกมาดี พิธีกรควรจะให้ผู้อยู่ร่วมงาน ลุกขึ้นยืน ต้อนรับ  หรือ บางงานอาจจะมีเสียง
ปรบมือ หรือ บางงานอาจจะต้องใช้เสียงดนตรีหรือเสียงเพลง ทั้งนี้แล้วแต่สถานการณ์ พิธีกรต้องรู้จักปรับเปลี่ยน รู้จักกาละเทศะ ในการนำไปใช้เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์
                การแนะนำวิทยากร ก็ควรกล่าวประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน พร้อมแนะนำตำแหน่ง สถานที่ทำงานในปัจจุบัน สุดท้ายจึงแนะนำชื่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย
                หน้าที่ของพิธีกร ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มาถึงงานก่อนเพื่อดูความพร้อมในงาน เตรียมข้อมูลในการพูดมาว่าจะพูดอะไรภายในงาน ตรวจดูเวที ไมโครโฟนดังไหม แสง สี เสียง บนเวทีพร้อมหรือไม่ เมื่อขึ้นเวทีควรกล่าวต้อนรับ แจ้งข้อมูล กำหนดการ ดำเนินรายการ บอกขั้นตอนต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กล่าวขอบคุณและกล่าวปิดงาน ซึ่งควรทำไปด้วยความกระตือรือร้น
                 ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นเทคนิคของผู้ที่ต้องการเป็นพิธีกร ซึ่งท่านที่มีความปรารถนาจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้ดี จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งต้องพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาบุคลิกภาพ  พัฒนาการออกเสียงให้ชัดเจน พัฒนาการพูดของตนเองอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด ท่านจำเป็นจะต้องหาเวทีในการฝึกฝนในการทำหน้าที่พิธีกร กระผมเองก็เคยผ่านเวทีพิธีกรมาอย่างมากมาย บางเวทีก็ราบรื่น บางเวทีก็มีปัญหาบางอย่างแต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ดี เช่น พิธีกรงานแต่งงาน พิธีกรงานลอยกระทง พิธีกรในงานอภิปราย พิธีกรในงานพิธีต่างๆระดับจังหวัด พิธีกรในงานประชุม พิธีกรในงานสัมมนา ฯลฯ

ทำงานให้สนุกและสร้างความสุขกับการทำงาน

ทำงานให้สนุกและสร้างความสุขกับการทำงาน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                พวกเราที่มีงานทำ พวกเราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เราทำงานกันทุกวันเรามีความสุขหรือไม่
ถ้าท่านมีความรู้สึก เบื่อที่ทำงาน ไม่อยากไปทำงาน  การทำงานในที่ทำงานนั้นเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน อยากให้มีวันหยุดบ่อยๆ อยากลางานบ่อยๆ ฯลฯ
                เมื่อท่านมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ในหัวใจ ท่านลองถามตัวเองว่า ท่านมีความสุขในการทำงานหรือมีความทุกข์ในการทำงานของท่านในแต่ละวัน
                ถ้าท่านมีความทุกข์ในการทำงาน ความทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน ใช่ครับ หลายคนคงบอกว่าอยู่ที่ใจ
เช่น พระพุทธเจ้า เคยกล่าวไว้ว่า “ ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบใจไม่มี” หรือ  ท่าน ดาไล ลามะเคยกล่าวไว้ว่า “การได้มาซึ่งความสุข ไม่จำต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ด้วยการพัฒนาจิตใจ (ทำให้สงบและมีเมตตากรุณา)
เราสามารถสร้างความสุขได้เกือบตลอดเวลา”
                ถ้าถามว่า แล้วชีวิตของคนๆหนึ่งจะมีประโยชน์จะมีคุณค่าขึ้นอยู่กับการทำงานใช่ไหม พวกเราใช้เวลาเกือบทุกวันในการทำงานใช่ไหม ถ้าคำตอบว่าใช่ ดังนั้นก็เป็นดังคำกล่าวที่ว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน ของหลวงพ่อพุทธทาส
                ถ้าถามคนส่วนใหญ่ว่าแล้วทำอย่างไรชีวิตการทำงานถึงจะมีความสุข คำตอบของหลายๆท่าน มักตอบว่าต้องทำงานในงานที่ตัวเองรัก
แล้วชีวิตการทำงานในปัจจุบันของหลายๆท่านเป็นอย่างไร หลายคนได้ทำงานตามที่ตนรัก แต่ไม่พอใจ  หลายคนเลือกไม่ได้ จึงต้องจำใจทำ บางคนมีปัญหากับเจ้านายและเพื่อนผู้ร่วมงาน
                อาจสรุปได้ว่าปัจจัยในการทำงานอย่างมีความสุขหรือทำงานอย่างมีความทุกข์มักเกี่ยวกับกับ งานที่ทำ เจ้านาย เพื่อนผู้ร่วมงาน สิ่งแวดล้อม องค์กร เงิน และตัวเราเอง  ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ ปัจจัยที่เราสามารถปรับตัวได้ก็คือ ตัวเราเอง เพราะปัจจัยที่เหลือเป็นปัจจัยภายนอก เราไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้
                ดังนั้น หากเราจะทำงานให้มีความสุขก็คงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ใจเราก่อน หากท่านไหนได้ทำงานในงานที่ตนรัก ท่านก็มีความสุขกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานในงานที่ตนรัก แต่ท่านอาจจะต้องปรับตัวเองเนื่องจากได้ทำงานในงานที่รัก แต่อาจรู้สึกไม่ชอบหรือไม่มีความสุขกับปัจจัยภายนอก เช่น ไม่ชอบเจ้านาย ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน ได้เงินเดือนไม่พอใช้  ฉะนั้นก็คงต้องหาสาเหตุแล้วทำการแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
                สำหรับท่านที่ไม่สามารถเลือกงานที่ตนเองรักได้ ท่านก็ควรจะต้องมีการปรับทัศนคติใหม่ เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกงานที่ทำได้ แต่หากท่านเลือกได้ กระผมแนะนำให้เปลี่ยนงานไปทำงานที่ตนเองชอบหรือรัก ก็จะทำให้ท่านมีความสุขจากการทำงานได้มากขึ้น หากไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ ก็คงต้องคิดเสียใหม่ว่า “ หากเราไม่สามารถทำงานที่เรารัก ก็ขอให้รักในงานที่เราทำ ”
                ด้านเทคนิคในการสร้างความสุขในการทำงาน มีหลายเทคนิคซึ่งในที่นี้กระผมขอเขียนตามทัศนะของกระผม มีดังนี้
                -สร้างทัศนคติในด้านบวกเสมอ เช่น การพัฒนาความคิดหรือเปลี่ยนแปลงความคิดให้มองโลกในแง่ดี   ไม่ควรคิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องต่างๆในที่ทำงาน
                -สร้างมนุษย์สัมพันธ์ เนื่องจากการทำงานในทุกที่ทุกองค์กร เราจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับคน ยิ่งองค์กรใหญ่ๆ ก็ยิ่งได้ทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ การพัฒนาความมีมนุษย์สัมพันธ์จึงมีความสำคัญในการทำงานร่วมกัน หากว่าในองค์กรมีการทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน การจะทำงานอย่างความสุขในการทำงานก็คงมีลดน้อยลง การทำงานร่วมกับคน หากว่าเราสามาราถหลีกเลี่ยง การต่อว่าองค์กร ต่อว่าเพื่อนร่วมงาน ต่อว่าหัวหน้างานได้ก็จะเป็นการดีครับ
                - สร้างประโยชน์หรือหาประโยชน์ จากการได้ทำงานของเรา ในการทำงานต่างๆ ย่อมมีประโยชน์แก่สังคม แก่บริษัท แก่ครอบครัว และแก่ตัวเราเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากเราสามารถมองเห็นประโยชน์ต่างๆ จากการได้ทำงานของเรา เราก็จะมีความสุขมากขึ้น งานที่เราทำปัจจุบัน เราสามารถนำไปประกอบกิจการหรือเป็นเจ้าของกิจการได้ในอนาคต เช่น บางคนเป็นพ่อครัว ท่านก็สามารถใช้ความรู้ความสามารถในปัจจุบันนำไปเปิดร้านอาหารได้ในอนาคต บางคนเป็นคนซ่อมรถ ท่านก็สามารถนำความรู้ความสามารถรวมทั้งประสบการณ์ไปเปิดอู่ซ่อมรถได้ในอนาคต บางคนเป็นนักข่าวในปัจจุบันในอนาคตท่านสามารถไปเป็นนักเขียนได้ ฯลฯ
ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสุขในที่ทำงานก็คือ ตัวเราเอง หากว่าเรามีทัศนคติในแง่ดี หากเรามีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี หากเรามองหาประโยชน์จากงานที่เราทำในปัจจุบัน เราก็สามารถทำงานให้สนุกและสร้างความสุขกับการทำงาน

การทำงานเป็นทีม

การทำงานเป็นทีม
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ    คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง  สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง  ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไป  และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย  สุจริตใจ  ด้วยความคิด  ความเห็นที่เป็นอิสระ  ปราศจากอคติ  และด้วยความถูกต้อง   ตามเหตุตามผลด้วย  จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วน
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                การทำงานเป็นทีม ถือว่าเป็นหัวใจหนึ่งในการทำงานร่วมกัน องค์กรไหน บริษัทไหน หน่วยงานไหน ที่สามารถสร้างทีม พัฒนาทีม ให้ทำงานร่วมกันได้ องค์กรนั้น บริษัทนั้น หน่วยงานนั้นจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
                ทำไมต้องทำงานเป็นทีม แน่นอนการทำงานบางอย่างอาจจะทำคนเดียวได้ แต่การทำงานบางอย่างต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทุกคนมีความสามารถแต่ความสามารถของทุกคนมีจำกัด การนำความสามารถของทุกคนมารวมกันจึงเกิดผลงานมากขึ้น อีกทั้งงานบางอย่างต้องการความคิดที่ริเริ่มสร้างสรรค์จึงต้องการคนมาทำงานด้วยการคิดร่วมกัน งานจึงออกมาสำเร็จ
                การทำงานเป็นทีมคือ การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาทำงานร่วมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน
                การทำงานเป็นทีมที่ดี คือ ทีมต้องทำงานร่วมกัน โดยทุกคนในทีมจะต้องทุ่มความคิด ทุ่มแรงกาย เพื่องาน เพื่อความสำเร็จของงาน โดยไม่ถือว่าเป็นผลงานของคนคนเดียวแต่ผลงานทั้งหมดเป็นของทีม ทีมที่ดีควรสร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีความไว้ใจกัน เชื่อใจกัน มีความผูกพันกันจนก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี กันในทีม
                เมื่อทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานประโยชน์ที่ได้รับก็คือ การทำงานจะมีพลังอย่างมากมายมหาศาล ผลงานที่เกิดขึ้นจะมีมากมาย ช่วยลดต้นทุนในการทำงาน  ผลงานมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
                การทำงานเป็นทีมที่ดีมักมีองค์ประกอบของทีมดังนี้ มีวัตถุประสงค์ในการทำงานร่วมกัน มีระบบบริหารหรือการจัดการทีมที่ดี มีสมาชิกที่มีคุณภาพมีความสามารถในการทำงานมีความรับผิดชอบในหน้าที่  มีผู้นำทีมที่มีประสิทธิภาพมีภาวะผู้นำที่ดี
                ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีม  ทำให้ทีมเกิดการแตกแยก ได้แก่ เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของความขัดแย้ง เรื่องของการเสียสละ เรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล เรื่องของการสื่อสาร ฯลฯ
                แนวทางในการลดปัญหาในการทำงานเป็นทีม คือ สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน มีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนไม่ปิดบังกัน มอบหมายงานก็ต้องมีความชัดเจนแน่นอนไม่เปลี่ยนไปมา ยอมรับในความแตกต่างของสมาชิกในทีม เนื่องจากคนเราเกิดมาก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพศ วัย ศาสนา การศึกษา  สิ่งแวดล้อม ความสามารถ ประสบการณ์ ฯลฯ
                นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จ เช่น
-                     การประชุมของทีมงาน ทีมงานที่ดีต้องมีการประชุมกันสม่ำเสมอ เพื่อให้สมาชิกได้ปรึกษาหารือในการ
ทำงานร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน ระดมความคิดร่วมกันในการทำงาน
-                     ภาวะผู้นำกับการทำงานเป็นทีม ผู้นำมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ผู้นำมี
หน้าที่ในการบอกวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำงานร่วมกันให้ชัดเจน ผู้นำจะต้องมีหน้าที่ในการชี้นำ สอนงาน สั่งงาน อำนวยการ พร้อมทั้งติดตามควบคุมการทำงานของทีมเพื่อให้เกิดมีประสิทธิภาพ
-                    ส่วนทักษะของผู้นำทีมที่ดี คือ ต้องมีความสามารถทางด้านการสื่อสาร ต้องมีความสามารถในด้านบริหารหรือการจัดการ (วางแผน จัดองค์กร จัดคนเข้าทำงาน สั่งการหรืออำนวยการ และการควบคุม) ต้องมีความสามารถในด้านการเจรจาต่อรองและแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม
                สรุป การทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากในการทำงานขององค์กร ของหน่วยงาน  หากองค์กร หน่วยงาน ไหนที่มีทีมงานที่เข้มแข็ง ย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น

เส้นทางสู่การเป็นวิทยากร

เส้นทางสู่การเป็นวิทยากร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                การเป็นวิทยากรใครที่มีความสามารถในการนำเสนอ อีกทั้งมีความรู้ มีประสบการณ์ ท่านก็สามารถเป็นวิทยากรได้ แต่หากจะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ ในเส้นทางวิทยากร ก็คงต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ในบทความฉบับนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวข้อ “ เทคนิคการเป็นวิทยากร ”
                วิทยากร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจเกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดี เกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้นๆซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว วิทยากรจึงมีบทบาทที่สำคัญหลายประการเช่นอาจเป็นทั้งผู้บรรยาย ผู้สอน ผู้ฝึก พี่เลี้ยง ผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น( สุวิทย์ มูลคำ จากหนังสือ ครบเครื่องเรื่องวิทยากร       )
                ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ เป็น วิทยากร จึงมีความสำคัญมากในการฝึกอบรม ในการเรียน ในการสอน หากจะฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ วิทยากรคงต้องทำตนเป็นแบบอย่างหรือต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีความสามารถเหมาะสมก่อนจึงจะบรรยายหรือสอน ให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา และนำคำสอนไปปฏิบัติตาม
                บุคคลที่ต้องการเป็นวิทยากรคงต้องพัฒนาตนเองดังนี้
                1.บุคลิกภาพ  ของวิทยากรมีความสำคัญในการปรากฏกายต่อหน้าที่ชุมชน ซึ่งบุคลิกภาพในที่นี้คงรวมไปถึง บุคลิกภาพภายในและบุคลิกภาพภายนอก  บุคลิกภาพภายในเช่น ความเชื่อมั่นในตนเอง ความกระตือรือร้น ความจำ อารมณ์ขัน ความคิดริเริ่ม ปฏิภาณไหวพริบ ฯลฯ บุคลิกภาพภายนอกเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา กริยาท่าทาง คำพูดน้ำเสียง ภาษาที่ใช้ ฯลฯ
                2.ต้องมีใจรัก หากว่าไม่มีใจรักในงานด้านบรรยายหรืองานด้านการพูด ก็คงประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าหากมีใจรัก เมื่อพบอุปสรรคก็สามารถฝ่าฟันไปได้
                3.หาเวทีแสดง การที่จะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราคงต้องหาเวทีแสดง งานวิทยากรก็เป็นงานที่เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนด้านหนึ่ง ฉะนั้นถ้าอยากพูดต่อหน้าที่ชุมชนให้เก่งก็คงต้องหาเวทีในการฝึก เช่นกัน หากอยากเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องแสวงหาเวทีในการฝึกเช่นกัน
                4.พัฒนาตนเองให้มีความเก่งหลายๆด้าน เช่น การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการนำเสนอการบรรยายเราก็คงต้องเรียนรู้วิธีการใช้เช่น iPad  หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ , ฝึกร้องเพลงประกอบการอบรม ,ฝึกการพูดต่อหน้าที่ชุมชน , ฝึกการเล่าเรื่องให้สนุก , ฝึกการเล่นเกมส์เพื่อการศึกษา ฯลฯ
                5.เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ การวิทยากรที่ดี เราควรเข้ารับการอบรมบ่อยๆ  อบรมเพื่อหาแบบอย่าง อบรมเพื่อสะสมองค์ความรู้ อบรบเพื่อจดจำในสิ่งที่ดี เพื่อในวันข้างหน้าเราจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในเวทีที่เราเป็นวิทยากรในอนาคต
                6.ต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร การทำงานทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้ความพยายาม ทุกคนสามารถเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จได้  หากแต่ทุกคนจะต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร คนที่ล้มเหลว ก็คือคนที่เลิกก่อนที่จะประสบความสำเร็จ การเป็นวิทยากรก็เช่นกัน ไม่มีใครประสบความสำเร็จแค่ 1-2 เวที แต่วิทยากรที่ประสบความสำเร็จย่อมเคยผ่านเวทีเป็นจำนวนมาก บางเวทีก็ล้มเหลว บางเวทีก็ประสบความสำเร็จ แต่หากว่าเวทีไหนที่เขาล้มเหลว วิทยากรที่ประสบความสำเร็จเขาจะไม่ยอมล้มเลิกนั้นเอง เขาจึงเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
                ทั้ง 6 ข้อข้างต้น คือ บุคลิกภาพ  ต้องมีใจรัก หาเวทีแสดง พัฒนาตนเองให้เก่งหลายด้าน เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ และต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร เป็นเส้นทางเดินที่จะนำพาท่านไปสู่การเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ

การพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ

การพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                คนที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าแวดวงการเมือง แวดวงธุรกิจ แวดวงการศึกษา และแวดวงต่างๆ มักจะมีความเป็นผู้นำ มักจะมีความรู้ ความสามารถ กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก อีกทั้งยังคงเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดี
                ในบทความชิ้นนี้ เราจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่อง “ การพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ ”
บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่แสดงปรากฏออกมายังภายนอก ซึ่งบุคลิกภาพมีทั้งบุคลิกภาพภายใน คือ ความรู้สึก อารมณ์  ความฉลาด  ความจริงใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความคิดริเริ่ม  และ บุคลิกภาพภายนอก คือ การแต่งกาย ท่านั่ง ท่ายืน รูปร่างหน้าตา ทรงผม การปรากฏตัว การใช้น้ำเสียง การพูด
ทำไมเราต้องมีการพัฒนาบุคลิกภาพ เพราะการพัฒนาบุคลิกภาพจะทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ใครเห็นก็รู้สึกประทับใจ อีกทั้งทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีทั้งต่อตนเองและองค์กรที่ตนสังกัด
สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพ เราต้องมีการพัฒนาบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอก
การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกที่จำเป็นต้องพัฒนา ได้แก่ การแต่งกาย มารยาทสังคม
การแต่งกายที่ดี ควรยึดหลัก สะอาด สวยงาม สุภาพเรียบร้อยและเหมาะกับกาลเทศะ
สะอาด คือ ต้องสะอาดทั้งร่างกายและเครื่องแต่งกายก็มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผม เสื้อผ้า รองเท้า กลิ่นปาก กลิ่นตัว เล็บ ถุงเท้า
สวยงาม คือ การแต่งกายควรเพิ่มสีสันโดยประมาณไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ควรมีเครื่องประทับเล็กน้อยประกอบการแต่งกายไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา ปากกาถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรเกิน 2 ด้าม  ตุ้มหู  การทาปาก แต่งหน้า เป็นต้น
สุภาพเรียบร้อยและเหมาะกับกาลเทศะ กล่าวคือ แต่งกายให้เหมาะสมกับงานหรือสถานที่ที่จะไปร่วม สีเสื้อให้เหมาะสม เช่นไปงานศพ ก็ไม่ควรใส่เสื้อสีแดง (งานศพทั่วไปควรแต่งกายสุภาพ ใส่ชุดเสื้อดำ แต่หากเป็นพิธีงานศพที่สำคัญ เช่นมีหมายกำหนดการ ควรแต่งกายสากลไว้ทุกข์ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว เนคไทดำ สวมรองเท้าดำหุ้มส้น) ถ้าไปโรงแรมชั้นหนึ่งเราก็สามารถใส่ชุดสูทเข้าร่วมงานได้ แต่หากไปร่วมงานประเพณีตามสถานที่ต่างจังหวัด ตามท้องทุ่งนา ก็ไม่ควรใส่ชุดสูทไป ควรใส่เสื้อผ้าพื้นเมือง หรือชุดไทยไปจะเหมาะสมกว่า (ในปัจจุบันชุดไทยมีหลากหลายเราต้องควรศึกษาเพื่อใช้ในงานต่างๆให้เหมาะสม เช่น ชุดไทยประจำชาติ ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยประยุกต์ ชุดไทยจิตรลดา เป็นต้น)
ดังนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพ การแต่งกายจึงมีความสำคัญดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า “ ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เพราะการแต่งกายที่ดีจะช่วยเสริมบุคลิกภาพและสามารถสื่อสารได้ การแต่งกายก็เหมือนหีบห่อของผลิตภัณฑ์หรือตัวสินค้า เช่น กล่องยาสีฟัน กล่องสบู่ กล่องขนม หากการแต่งกายสะอาด ดูดี  สวยงาม เหมาะสม ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าภายในของผู้แต่งกาย
มารยาททางสังคมก็มีความสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพ เนื่องจากทุกประเทศมีมารยาทสังคมที่แตกต่างกัน หรือในประเทศเดียวกันก็ยังมีประเพณีท้องถิ่น ภาษาถิ่น ดังนั้นเราต้องเรียนรู้กัน
มารยาททางสังคมสำหรับสังคมไทยที่ควรรู้ก็คือ การทักทาย การไหว้ การใช้โทรศัพท์ การพูดคุย การนั่ง การยืน กับผู้ใหญ่  การซื้อขอฝากตามเทศกาลต่างๆ  การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน การไม่โทรศัพท์หรือพูดคุยกันในห้องประชุม ฯลฯ
                ดังนั้น หากท่านต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตหรือในหน้าที่การทำงาน ท่านควรพัฒนาตนเองหลายๆด้าน การพัฒนาบุคลิกภาพก็เป็นด้านหนึ่งที่ท่านควรพัฒนาเพราะการพัฒนาบุคลิกภาพจะนำพาท่านสู่ความสำเร็จ
              

นักบริหารกับยุคของการเปลี่ยนแปลง

นักบริหารกับยุคของการเปลี่ยนแปลง
โดย...ดร.สุทธิชัย  ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
http://www.drsuthichai.com/
มีนักวิชาการหลายท่านเคยกล่าวว่า “ ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ” ดูจะเป็นจริงมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ถ้าองค์กรใด หน่วยงานใด หรือนักบริหารคนใด ไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน องค์กรนั้น หน่วยงานนั้นหรือนักบริหารคนนั้น จะเสียเปรียบในการแข่งขันกับ องค์กร หน่วยงานหรือนักบริหาร ที่ใช้เทคโนโลยี มาช่วยในการทำงาน บริหารงาน
การใช้เทคโนโลยีช่วยทำงาน ทำให้นักบริหารทำงานได้ง่ายขึ้น มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ใช้ความคิดในการจดจำสิ่งต่างๆน้อยลง เช่น เบอร์โทรศัพท์ต่างๆ นักบริหารสามารถบันทึกไว้ได้ในโทรศัพท์มือถือ หรือ ข้อมูลต่างๆที่ใช้ในการตัดสินใจ นักบริหารก็สามารถนำเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์
นายจอห์น ไนส์บิตต์ เขียนไว้ในหนังสือ MEGATREND ซึ่งพูดถึงเทคโนโลยี่ต่อสังคมโลก เมื่อปี 1982  โดยเขียนไว้ว่า
                1.สังคมจะเปลี่ยนเป็นยุคของสังคมสารสนเทศ กล่าวคือมีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า คลื่นลูกที่ 1 เป็นสังคมเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 เป็นสังคมอุตสาหกรรม และคลื่นลูกที่ 3 เป็นสังคมสารสนเทศ ซึ่งก็เป็นยุคปัจจุบันนี่เอง
                2.เศรษฐกิจจะเปลี่ยนเป็นระดับโลกจากอดีตที่เคยเป็นแค่เศรษฐกิจระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น  กล่าวคือ โลกทั้งโลกจะเป็นสังคมเดียวกัน ติดต่อค้าขายกัน ดังนั้นทุกประเทศจะมีบริษัทข้ามชาติ เข้าไปค้าขายและตั้งสำนักงานในประเทศต่างๆมากขึ้นหรือเรียกว่าเป็นการค้าขายแบบ “ อินเตอร์ ” นั่นเอง
                3.ธุรกิจต่างๆจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการทำงาน กล่าวคือระบบคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาในชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการ หรือ เข้ามาอำนวยความสะดวกกับชีวิต
                4.การวางแผนจะเน้นวางแผนระยะยาวมากกว่าระยะกลางหรือระยะสั้น คือ การวางแผนจะต้องวางแผนเป็นระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือวางแผนระยะยาวขึ้น
                5.การตัดสินใจจะเร็วขึ้นเนื่องจากมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับล่างมากขึ้น คือ ให้อำนาจกับผู้บริหารระดับล่างมากขึ้นหรือให้อำนาจกับพนักงานมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริหารที่รวดเร็วหรือทำให้การบริการลูกค้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
                6.รูปแบบการจัดองค์กรจะเป็นแบบ NETWORK มากกว่าเป็นแบบลำดับชั้น คือ องค์กรจะมีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือตาข่าย  จะไม่เหมือนอดีตที่มีการจัดโครงสร้างองค์กรในลักษณะให้ฐานล่างกว้างใหญ่ แต่ฐานบนแคบเล็ก
                7.มีทางเลือกมากขึ้นในการพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ  เมื่อคนเรามีความฉลาดขึ้น มีเครื่องมือมากขึ้น มีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้คนเรามีทางเลือกในการตัดสินใจมากตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น การจะเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น เราสามารถเลือกเดินทางได้หลายทางด้วยกันเช่น รถยนต์ รถไฟฟ้า เครื่องบิน ฯลฯ
                นายจอห์น ไนส์บิตต์ เป็นนักทำนายอนาคตที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำนายเมื่อปี 1982 ซึ่งปัจจุบันเป็นปี 2011 ซึ่งดูแล้วจะเป็นความจริงมากที่เดียวในปัจจุบัน
               ฉะนั้นการเป็นนักบริหารจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งถ้าหากมองในแง่ดี การเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความสามารถศักยภาพในตัวของนักบริหาร
                 อีกทั้งถ้าหากองค์กรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตัวนักบริหารเองจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง นักบริหารจึงต้องมองไปข้างหน้าเพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพราะถ้านักบริหารไม่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือรอคอยให้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกมาก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนแปลง นักบริหารก็จะทำให้องค์กรล้าหลังหรือเสียเปรียบคู่แข่งขันทันที
            อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า “ การแก้ปัญหาในเรื่องเดิม จะต้องใช้วิธีการใหม่เท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ” ฉะนั้น หากว่าองค์กร เจอปัญหาเดิมๆ แล้วแก้ปัญหาไม่ได้ นักบริหารจะต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะถ้านักบริหารไม่แก้ปัญหา ปัญหาก็จะสะสมเหมือนดินพอกหางหมูแล้วดินนั้นก็จะพอกตัวหมูในที่สุด
                นักบริหารส่วนใหญ่มักกลัวการเปลี่ยนแปลงแต่อย่าลืมว่าองค์กรจะเจริญก้าวหน้าได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง  ถามว่าทำไมนักบริหารถึงไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเพราะว่า นักบริหารบางคนกลัวเสียผลประโยชน์ นักบริหารบางคนกลัวว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วตนเองจะทำงานหนักขึ้น เหนื่อยมากขึ้น นั่นเอง

อยากเขียนเก่งต้องเขียน

อยากเขียนเก่งต้องเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
http://www.drsuthichai.com/
                อยากพูดเก่งต้องพูด  อยากว่ายน้ำเก่งต้องลงไปว่ายน้ำ อยากขายเก่งต้องไปขาย และถ้าอยากเขียนเก่งต้องเขียนครับ การเขียนเป็นศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ เมื่อฝึกฝน ฝึกปฏิบัติ บ่อยๆ ก็จะเขียนได้เก่ง เขียนได้ดียิ่งขึ้น
                บางคนเคยถามผมว่า เขาเขียนไม่เป็น ทำอย่างไรถึงเขียนได้ คำตอบที่ผมตอบกลับไปเหมือนกำปั้นทุบดินก็คือ คุณต้องเขียนครับ แล้วมีคำถามต่อว่าแล้วจะให้ผมเขียนอะไร คุณจะเขียนอะไรก็ได้ ทางที่ดีควรเลือกแนวทางหรือเรื่องที่คุณถนัดหรือสนใจจริงๆ ในการฝึกการเขียนใหม่ๆ
                บางคนแทนที่จะลงมือเขียนได้แล้ว กลับถามผมอีกว่า แล้วผมไม่รู้ว่าถนัดแนวไหน (แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย ผมคิดในใจ) ถ้าไม่รู้ว่าถนัดแนวไหน คุณลองสังเกตดูว่าคุณชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวไหน เพราะคนส่วนใหญ่มักอ่านหนังสือในแนวที่ตนเองสนใจ เมื่อคุณอ่านหนังสือแนวนั้นเยอะๆ ก็จะทำให้คุณเกิดฐานข้อมูลในการเขียน จะทำให้การฝึกการเขียนนั้นง่ายกว่าการเขียนในแนวที่ตนเองไม่ถนัดหรือเรื่องที่คุณไม่รู้
                การเขียนมีหลายแนวหรือหลายประเภท เช่น การเขียนบทความ การเขียนนวนิยาย การเขียนรายงาน การเขียนสารคดี การเขียนเรียงความ การเขียนข่าว ฯลฯ หากว่าคุณอยากเขียนให้ได้ดีหรืออยากพัฒนางานเขียนให้พัฒนาได้ไวขึ้น คุณจำเป็นจะต้องรู้เทคนิคต่างๆ การรู้เทคนิคจะทำให้งานเขียนออกมาดียิ่งขึ้น
                การเขียนได้ต้องเริ่มจากการอ่าน การอ่านมีความสำคัญและจำเป็นมาก สำหรับคนที่ต้องการฝึกฝนในการเขียน เพราะการอ่านมากๆ จะทำให้เรามีข้อมูลในการเขียน การอ่านมากๆ จะทำให้รู้วิธีการต่างๆ ของนักเขียน เช่น การใช้สำนวนภาษา  การเว้นวรรค การเล่นคำ การใช้อารมณ์ การสอดแทรกอารมณ์ต่างๆในการเขียน ฯลฯ
                อยากประสบความสำเร็จในการเขียนต้องมีใจรัก การทำงานทุกอย่างต้องเริ่มที่ใจรักก่อน หากไม่มีใจรักเสียแล้ว เมื่อเกิดปัญหา เกิดอุปสรรคต่างๆ คนๆนั้นก็จะล้มเลิกกลางคัน  งานอาชีพทางการเขียนก็เช่นกัน คนที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียน เราลองไปอ่านประวัติของนักเขียน ก็จะทราบได้ว่า เขาเริ่มต้นจากหัวใจที่รักในการเขียน ในการอ่าน หนังสือ ฉะนั้นเมื่อบุคคลใดมีใจรักที่อยากเขียน เมื่อมีความปรารถนาอยากเป็นนักเขียน  บุคคลนั้นก็จะทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ตนต้องการ
                เขียนเก่ง ประสบความสำเร็จก่อน คนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพต่างๆ มักเกิดจากคนๆนั้น มีความสามารถที่หลากหลาย ความสามารถทางการเขียนก็เป็นความสามารถหนึ่งที่ส่งผลให้คนประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงานได้ เช่น นักเรียน นักศึกษาที่เขียนเก่ง มักสอบได้คะแนนดี เนื่องจากเขียนข้อสอบได้เข้าใจหรือสื่อสารได้ชัดเจนกว่านักเรียน นักศึกษาที่เขียนไม่เก่ง ,  พนักงานที่เขียนเก่ง มักได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งและได้รับเงินเดือนมากกว่าพนักงานที่เขียนไม่เก่ง กล่าวคือ เมื่อผู้บริหารให้เขียนรายงานส่ง เขียนแผน เขียนโครงงานต่างๆ พนักงานที่มีความสามารถทางการเขียนมักสื่อให้ผู้บริหารเข้าใจได้ง่ายกว่าพนักงานที่เขียนไม่เก่ง  ฯลฯ
                เขียนเก่ง...รวยก่อน... คนที่เขียนเก่งมักก่อให้เกิดความร่ำรวย  เช่น นักเขียนบางคนมีฐานะร่ำรวยมาจากงานเขียนถึงขั้นเป็นมหาเศรษฐีหรือเศรษฐีไปเลยก็มี  เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้แต่งวรรณกรรมเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีทรัพย์สินร่วม 2,000 ล้านบาท ขึ้นทำเนียบบุคคลรวยที่สุดอันดับที่ 122 ของประเทศอังกฤษ  หรือนักเขียนชาวไทย   สมคิด  ลวางกูร เขามักเรียกตัวเขาเองว่าเป็นนักจัดการข้อมูล ก็ร่ำรวยมาจากการเป็นคนเขียนหนังสือขาย
                ท้ายนี้กระผมขอสรุปอีกครั้งว่า อยากเขียนเก่งต้องเขียนครับ ถ้ามัวแต่อ่านแล้วไม่ลงมือเขียน เราก็จะได้แค่เป็นนักอ่าน นักเขียนต้องเขียน เขียน และเขียน จึงจะประสบความสำเร็จในการเขียนครับ

องค์กรกับการประชาสัมพันธ์

องค์กรกับการประชาสัมพันธ์
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                ทำไมจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ ? การประชาสัมพันธ์มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากกับทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบัน  เพราะการที่ประชาชนหรือลูกค้าจะเลื่อมใสศรัทธา จะต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อให้เกิดข้อมูลและ ความรู้  ในยุคปัจจุบันทุกหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับการทำงานด้านประชาสัมพันธ์
                การประชาสัมพันธ์ที่ดีควรทำทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ภายในองค์กรเช่น กลุ่มพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในองค์กร และภายนอกองค์กรได้แก่ กลุ่มผู้ถือหุ้น กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนทั่วไป
                การประชาสัมพันธ์ที่ดีมักสร้างภาพพจน์(Image) หรือ สร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้เกิดขึ้นภายในใจของผู้บริโภคได้ ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในงานประชาสัมพันธ์มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ชื่อ,สัญลักษณ์,บุคลิกของคนและหน่วยงาน ฯลฯ
                ชื่อ ของหน่วยงานหรือองค์กรมีความสำคัญมาก เช่น เมื่อพูดถึงคำว่า “ มติชน “ พวกเราคิดถึงอะไร เมื่อพูดถึงคำว่า “ AIA “ พวกเราคิดถึงอะไร เมื่อพูดถึงคำว่า “ โตโยต้า “ พวกเราคิดถึงอะไร  ซึ่งหลักในการตั้งชื่อหน่วยงาน องค์กรหรือสินค้าที่ดีนั้น เราไม่ควรตั้งชื่อยาวเกินไป  ควรตั้งชื่อสั้นๆ เรียกง่ายๆ จำง่ายๆ  อีกทั้งต้องมีความหมายที่ดี สื่อความหมายไปในทางที่ดี ไม่ควรตั้งชื่อที่มีความหมายในทางลบ
                สัญลักษณ์ เช่น โลโก้ ตรา เครื่องหมาย  คำขวัญ ควรสร้างหรือออกแบบให้มีความสอดคล้องกับชื่อหน่วยงาน สอดคล้องกับธุรกิจ แต่ให้ดูดึงดูดและเด่น และควรสื่อความหมายที่ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสน
                บุคลิกของคน ในหน่วยงานก็มีความสำคัญ หลายหน่วยงานจะมีเครื่องแบบให้แต่งกายเหมือนๆกัน เช่น ธนาคารหลายแห่งในปัจจุบันก็จะมีชุดทำงานที่เหมือนกัน  ใช้สีเสื้อผ้าที่เหมือนกัน มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่ประทับเครื่องแต่งกายเหมือนกัน
                บุคลิกของหน่วยงาน มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ภายในใจของผู้บริโภคหรือคนพบเห็น เช่น เมื่อกล่าวถึง สถานที่ราชการในสมัยก่อนกับเอกชนในสมัยก่อน เราจะเห็นภาพชัดเจน ถึงแม้ในยุคปัจจุบัน หน่วยงานราชการหลายแห่งจะมีการปรับปรุงสถานทีทำงานให้ทันสมัยก็ตาม แต่หลายหน่วยงาน เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชนเราจะเห็นความแตกต่างกันอยู่หลายประการ กล่าวคือ เรื่องของการแต่งกาย เรื่องของสถานที่ทำงาน เรื่องของการบริการ เรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เรื่องของความกระตือรือร้นในการทำงานของคนที่ทำงานในหน่วยงานราชการกับหน่วยงานเอกชน ฯลฯ
                 สื่อกับการประชาสัมพันธ์ในองค์กร ในยุคปัจจุบันเป็นยุคสังคมของสารสนเทศ ฉะนั้นสื่อในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาและมีความหลากหลายกว่าในอดีต อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ควรต้องใช้สื่อที่มีความหลากหลาย เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ  โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต จดหมายข่าว แผ่นป้าย โปสเตอร์ สติกเกอร์ แผ่นพับ ฯลฯ
                นักประชาสัมพันธ์กับงานประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร นักประชาสัมพันธ์มีความสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร นักประชาสัมพันธ์ที่ดีจึงต้องมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น ความสามารถในการสื่อสาร ไม่ว่าเรื่องของการพูดและการเขียน กล่าวคือ สามารถเป็นพิธีกรได้  สามารถให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวได้ สามารถเขียนข่าวส่งข่าวได้ สามารถสร้างความสัมพันธ์กับนักข่าวได้ ฯลฯ
                ฉะนั้น เมื่องานประชาสัมพันธ์มีความสำคัญเช่นนี้แล้ว นักบริหารหรือผู้นำในองค์กร ควรให้ความสำคัญแก่งานด้านประชาสัมพันธ์ เช่น การจัดการอบรมให้ความรู้แก่คนภายในองค์กรในเรื่องที่สอดคล้องกับงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนในองค์กรเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเป็นอีกช่องทางอีกทางหนึ่งในการสื่อสารกับบุคคลภายนอกองค์กร , การจัดงบประมาณให้แก่หน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับค่าใช้จ่าย เป็นต้น

การบริหารเวลา

 การบริหารเวลา
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมง เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นยาจก มหาเศรษฐี คนทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่คนที่ประสบความสำเร็จทำไมถึงประสบความสำเร็จ อีกทั้งหากเราลองไปศึกษาการทำงานในแต่ละวันของเขา เราจะทราบว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักใช้เวลาน้อยกว่า แต่สามารถสร้างความร่ำรวยได้มากกว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ น่าศึกษาและน่าเรียนรู้
                กฎ  80  และ 20 ของ วิลเฟรโด ปาเรโต นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ได้อธิบายว่า 20 % ของประชากรทั้งหมดจะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติจำนวนถึง 80 % ของประเทศ กฎนี้สามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอย่างอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เราจะสังเกตว่า เรามักใช้เวลาไปถึง 80 % แต่มักได้ผลตอบแทนเพียงแค่ 20 %  แต่คนที่ประสบความสำเร็จ เขาทำในสิ่งที่ตรงข้ามกล่าวคือ เขาใช้เวลาเพียงแค่ 20 %  แต่ได้ผลตอบแทนเท่ากับ 80 % ผมขอขยายความในส่วนนี้เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น นักขายส่วนใหญ่มักเสียเวลาไปนำเสนอขายสินค้าแก่ลูกค้ารายเล็กจำนวนถึง 80 ราย ซึ่งลูกค้ารายเล็กมักมียอดสั่งซื้อเพียง 20 % เมื่อเทียบกับการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้ารายใหญ่เพียง 20 ราย แต่สั่งซื้อสินค้าถึงจำนวน 80%  ของยอดขายทั้งหมด
                ฉะนั้นหากพวกเราต้องการประสบความสำเร็จก็จงทำตามคนที่ประสบความสำเร็จเขาทำ กล่าวคือ เราต้องขายสินค้าให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีจำนวน 20 % ก็จะทำให้เราทำงานเหนื่อยน้อยลง และประหยัดเวลาได้มากขึ้น
                การเป็นนักบริหารเวลาที่ดีควรมีการวางแผนการทำงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายสามเดือน รายปี รายห้าปี เป็นต้น ซึ่งการวางแผนที่ดีเราควรมีเครื่องมือช่วย ก็จะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และทำให้การทำงานง่ายขึ้น เครื่องมือในที่นี้ก็คือ ตารางเวลาทำงาน ไดอารี่ สมุดบันทึก ปฏิทิน โทรศัพท์มือถือสมัยใหม่มักมีโปรแกรมในการช่วยบริหารเวลา   Ipad เป็นต้น
                การเป็นนักบริหารเวลาที่ดี มักต้องย่อมให้มีการกระจายอำนาจความรับผิดชอบ กิจกรรมที่มีความสำคัญน้อยก็ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นทำแทน กล่าวคือ การใช้เวลาของคนอื่นในการทำงานของเรา เช่น การฝากเงินธนาคาร การชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา การเสียค่าโทรศัพท์ ฯลฯ  ควรหาคนทำงานแทน
                ผู้ที่ต้องการบริหารเวลาควรที่จะต้องมีการทบทวน ตรวจสอบ เวลาของตนเองในแต่ละวัน ควรพิจารณาดูว่า เราใช้เวลามากไปสำหรับงานที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำหรือเปล่า หากว่าเป็นเช่นนี้ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้เวลามากยิ่งขึ้น  เช่น การโทรศัพท์คุยเรื่องส่วนตัวมากไปก็ควรลดเวลาโทรศัพท์ลงแล้วเปลี่ยนไปโทรศัพท์ติดต่องานกับลูกค้าแทน , การเล่นอินเตอร์เน็ต การเล่นเกมส์ การดูโทรทัศน์มากเกินไป ก็ควรลดแล้วหันไปอ่านหนังสือแทน ฯลฯ
                ท่านสามารถบริหารเวลาได้โดยการประหยัดเวลาคือการทำกิจกรรมสองอย่างคู่กันได้ เช่น การขับรถพร้อมกับการเปิดเทปวิชาการฟัง การรดน้ำต้นไม้กับการฟังเพลง  การทำความสะอาดบ้านกับการฟังข่าวทางวิทยุ ฯลฯ  แต่กิจกรรมบางอย่างไม่ควรทำคู่กันเพราะจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น การโทรศัพท์ขณะขับรถ หรือ ดื่มสุราขณะขับรถ
อีกทั้งท่านสามารถประหยัดเวลาในขณะที่ต้องรอรถ รอดูภาพยนตร์  รอแถว  รอเรียน โดยการอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ ฟังเทป  ผู้เขียน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้เวลาในการเดินทางไปที่ต่างๆ บางครั้งต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องไปก่อนเวลาทำให้ต้องรอ แต่ก็ได้ใช้ประโยชน์จากการรอขึ้นเครื่องบิน โดยการเอาคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้วขึ้นมาทำงาน เตรียมงานในวันพรุ่งนี้ หรือ บางครั้งก็สะสางทำงานที่ค้างไว้
 การใช้เทคโนโลยีช่วยในการประหยัดเวลา เมื่อจำเป็นจะต้องเดินทางไปพบลูกค้า เราควรโทรศัพท์ไปหาก่อนเพื่อลดความผิดพลาด อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดการเสียเวลาหากไปหาแล้วลูกค้าไม่อยู่  การส่งอีเมล์แทนจดหมาย ก็ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้ หรือหากต้องมีการประชุมแต่ผู้เข้าร่วมประชุมอยู่คนละจังหวัดเราก็สามารถประชุมทางไกลผ่านวิดีโอหรือผ่านทางเว็บไซต์ได้ ดังนั้น หากท่านสามารถทำงานที่บ้านของตนเองได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยก็จะทำให้ท่านลดการใช้เวลาในการเดินทางไปที่ทำงานได้ถึงเฉลี่ยวันละ 1-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
การจัดลำดับความสำคัญของงานก็มีความสำคัญในการบริหารเวลา  นักบริหารเวลาที่ดีต้องรู้จักจัดลำดับของงานเพื่อใช้ในการบริหารเวลา เช่น จัดลำดับดูว่า งานไหนสำคัญ งานไหนไม่สำคัญ งานไหนเร่งด่วน งานไหนไม่เร่งด่วน
สุดท้ายในการบริหารเวลาที่ดี เราต้องมีการประเมินผล มีการตรวจสอบ มีการทบทวนเวลา ในแต่ละวัน เพื่อที่จะได้ปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงให้การบริหารเวลาของเราเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผล

คุณสมบัตินักเขียน

คุณสมบัตินักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                เมื่อกล่าวถึงเรื่องคุณสมบัติของนักเขียน บางคนก็บอกว่าเป็นนักเขียนต้องทำตัวเหมือนศิลปิน บางคนบอกว่าเป็นนักเขียนจะต้องมีวินัย บางคนบอกว่าเป็นนักเขียนจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งจะตอบอย่างไรก็ถูกหมด เพราะนักเขียนแต่ละท่านมีคุณสมบัติหรือลักษณะที่ดีที่แตกต่างกัน หรืออาจจะมีนักเขียนบางท่านอาจจะมีคุณสมบัติหรือลักษณะที่ดีที่เหมือนกัน ซึ่งลักษณะที่ดีของนักเขียนมีดังนี้
                1.เป็นคนที่รักในงานเขียน คนเราจะทำอะไร ควรเริ่มต้นจากความรักในสิ่งนั้นๆ ก่อน ถ้าอยากจะเป็นนักเขียน เราก็ต้องเริ่มต้นที่ความรักในงานเขียนก่อน เมื่อมีความรักในงานเขียน เราก็มีทัศนคติที่ดีต่องานเขียน
                2.เป็นนักอ่าน อยากเป็นนักเขียนต้องอ่านหนังสือให้มากๆ การอ่านจะช่วยให้เขียนได้ดีขึ้น การอ่านจะทำให้มีข้อมูลต่างๆที่ใช้สำหรับเขียน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนควรอ่านหนังสือต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่มีโอกาสอ่านได้ โดยเฉพาะหนังสือประเภทที่เราจะเขียน
                3.เป็นคนที่มีวินัย นักเขียนที่จะประสบความสำเร็จ หรือ นักเขียนที่สร้างผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ มักเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง เช่น ต้องกำหนดเวลาทำงาน แล้วต้องทำงานให้มีผลงานออกมาตามแผนที่ตนเองได้วางไว้
                4.เป็นคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควร การจะเขียนหนังสือให้ได้ดี นักเขียนที่ดีควรมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ อยู่บ้างพอสมควรจึงจะสามารถเขียนหรืออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ หากไม่มีก็คงต้องลงไปศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง เช่น เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรือนจำ ก็ควรไปศึกษาดูสถานที่จริงก่อนเขียน การไปดูสถานที่จริงจะทำให้เขียนอธิบายความได้ชัดเจนขึ้น คนอ่านเข้าใจสิ่งที่ตรงการสื่อได้ชัดเจนขึ้น
                5.เป็นคนที่มีความสามารถในการใช้สำนวน ภาษา ถ้อยคำได้ดี การเขียนมีความแตกต่างกับการสื่อสารด้านการพูด เพราะการพูดให้คนเศร้า หรือ พูดให้คนหัวเราะ ผู้พูดสามารถใช้ลีลาท่าทาง สีหน้า การเคลื่อนไหว น้ำเสียง ฯลฯ  แต่การเขียนไม่สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ได้ จึงต้องอาศัยการใช้ ภาษา ถ้อยคำ สำนวน ช่วยในการสื่อเพื่อให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ต่างๆ
                6.เป็นคนที่ต้องทุ่มเท ขยัน เขียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ท้อแท้ ไม่เลิกกลางคัน นักเขียนที่ดีต้องมีหัวใจที่อดทน ต้องขยัน ทุ่มเท ไม่เลิกล้ม จนกว่าที่จะประสบความสำเร็จ
                7.เป็นคนที่ฝึกฝนตนเอง พัฒนาตนเอง แก้ไขปรับปรุง ตัวเองตลอดเวลา นักเขียนที่ดีต้องมีการพัฒนางานเขียนของตนเองสม่ำเสมอ ต้องศึกษาหาความรู้ เทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงจะทำให้งานเขียนของตนเองเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
                8.เป็นตัวของตัวเอง การเป็นนักเขียนที่ดีต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรเลียนแบบใคร จงเขียนงานของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติหรือความเป็นตัวตนของตนเอง และจงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเขียน
                9.เป็นคนที่มีสมาธิดี และเป็นคนที่ควบคุมตนเองได้ดี  งานเขียนหนังสือเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ฉะนั้นสมาธิจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการเป็นนักเขียน นักเขียนที่มีสมาธิดีมักจะนั่งเขียนได้เป็นเวลาที่นานๆ โดยไม่ลุกขึ้น เขียนจนกว่างานที่วางแผนไว้เสร็จแล้วจึงลุก ตรงกันข้ามกับนักเขียนที่ไม่มีสมาธิ เขียนได้ไม่เท่าไรก็จะลุกขึ้นทำนั่นทำนี่ คิดสิ่งนั้นคิดสิ่งนี้ จนผลงานเขียนไม่ออกมาดังแผนที่ตั้งใจไว้
                10.เป็นนักจำ นักจด นักเขียนที่ดีต้องมีความจำที่ดี แต่หากจำไม่ได้ทั้งหมดก็ควร หาปากกา กระดาษ สมุด จดในสิ่งต่างๆ ที่ตนคิด หรือ เมื่ออ่านเจอถ้อยคำ สำนวน ภาษาที่เราสนใจก็ควรจดบันทึกไว้ เพื่อนำข้อมูลที่จดไปใช้เขียนในอนาคตได้
                11.เป็นผู้ทีมีใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่นได้ การจะเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับ นักเขียนควรเต็มใจรับฟังคำวิจารณ์จากผู้อ่าน รับฟังคำวิจารณ์เพื่อทางแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงงานเขียนชิ้นต่อๆไป
                สิ่งเหล่านี้ข้างต้นเป็นคุณสมบัติที่ดีหรือลักษณะที่ดีของคนที่ต้องการเป็นนักเขียน  ถ้าหากท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเป็นนักเขียน ท่านควรศึกษา เรียนรู้ แนวทางที่กล่าวไปในข้างต้น พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ท่านก็สามารถเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้  ไม่มีใครช่วยให้ท่านเป็นนักเขียนได้ นอกจากตัวของท่านเอง

องค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม

 องค์ประกอบของการทำงานเป็นทีม
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                ในการทำงานร่วมกันในองค์กร หากองค์กรใดสามารถสร้างทีมได้เข้มแข็ง องค์กรนั้นจะเจริญก้าวหน้ากว่าองค์กรที่เกิดการแตกแยกกัน ซึ่งหลักในการทำงานเป็นทีมที่ดีได้ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
                1.เป้าหมาย กล่าวคือ การทำงานเป็นทีมผู้ทำงานจะต้องมีเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายของทีมสอดคล้องกัน เช่น การขายประกันชีวิตบริษัททุกแห่งย่อมมีเป้าหมายรายปี รายไตรมาส รายเดือน นักบริหาร ตัวแทนหรือทีมงานก็เช่นกัน ย่อมจะต้องมีเป้าหมาย รายปี รายไตรมาส รายเดือน ให้สอดคล้องกับของบริษัทจึงจะทำให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                2.บทบาท ของผู้นำทีมและผู้ตาม ถ้าหากองค์กรใดมีผู้นำทีมที่เก่ง และมีผู้ตามที่เก่ง องค์กรนั้นก็จะเจริญก้าวไปข้างหน้า ซึ่งหลักในการทำงานร่วมกันเป็นทีมย่อมต้องมีความขัดแย้งกันเป็นธรรมดา ผู้นำทีมจะต้องเป็นนักบริหารความขัดแย้ง  ในการทำงานของทีมอาจจะต้องใช้ขบวนการทำงานโดยหาความร่วมมือกับทีมงานมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมระดมสมอง , มีการจัดการประชุมเป็นประจำ , มีการทำกิจกรรมร่วมกันของทีมงานเช่นการจัดการอบรม สัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี เพื่อให้ทีมงานเกิดความผูกพันกันในทีม
                3.กระบวนการทำงาน เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน หากว่ามีกระบวนการทำงานที่ดี เป็นระบบ เป็นระเบียบ ก็จะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายๆ ขององค์กรได้มาก  เช่น สมัยก่อนคนรับจ้างแบกน้ำขายตามหมู่บ้านซึ่งเหนื่อยมาก กว่าจะได้ค่าแรงงาน แต่ พอมีคนจัดระบบน้ำประปาขึ้น ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ทำให้ใช้แรงน้อยลง ดังนั้น การแสวงหากระบวนการทำงานจะทำให้ประหยัดสิ่งต่างๆ และทำให้การทำงานง่ายขึ้น สำหรับในยุคปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจึงทำให้กระบวนการทำงานมีความทันสมัย รวดเร็ว ยิ่งขึ้น
                4.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานเป็นทีม ความสัมพันธ์ในทีมงานจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน ต้องมีการเชื่อมโยงกันในทีม เรื่องของมนุษย์สัมพันธ์จึงมีความสำคัญในการทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานเป็นทีม เราต้องทำงานกับคน ไม่ใช่ทำงานกับเครื่องจักร
                5.การเสริมสร้างกำลังใจ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรต้องมี เพราะคนเรามักทำงานหรือไม่ทำงาน โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะต้องมีแรงกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ฯลฯ คนที่ดูแลองค์กรไม่ว่าจะเป็นงานบุคคล ก็ควรจะมีการเสริมสร้างกำลังใจ โดย อาจมีรางวัลมอบให้เมื่อทีมงานหรือหน่วยงานใดทำงานได้ถึงเป้าหมาย อาจจะต้องจัดการแข่งขัน หากว่าองค์กรนั้นเป็นบริษัทที่มีการแข่งขันในการขายสูง อาจจะต้องแบ่งคนเป็นทีมๆ แล้วจัดการแข่งขันการขายขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการทำงานได้อีกวิธีหนึ่ง
                สำหรับทีมงานที่มีประสิทธิภาพควรมีลักษณะ กล่าวคือ ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น มีการพัฒนาตนเองและทีมงานตลอดเวลา  มีความสามัคคี
                เมื่อทำงานร่วมกันก็ย่อมพบกับปัญหา  สำหรับวิธีการลดปัญหาในการทำงาน คือ การให้ทุกคนในทีมงานร่วมกันกำหนดเป้าหมายของทีม  มีการมอบหมายความรับผิดชอบให้ชัดเจน มีการสร้างบรรยากาศในที่ทำงานในสะอาดน่าอยู่น่าทำงาน ออกกฎระเบียบเพื่อให้ทุกคนในทีมปฏิบัติตามกฎ มีการยอมรับความแตกต่างของทีมงาน
                การทำงานเป็นทีมกับทฤษฏีห่านป่า  เคยมีนักวิชาการหลายท่านได้ไปศึกษาการอยู่ร่วมกันของห่านป่า เรื่องของการดำรงชีวิต แต่สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ห่านป่า มักจะอยู่ร่วมกันเป็นทีม ทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพเยี่ยม เช่น การบินของฝูงห่านป่ามักจะบินเป็นรูปตัว V มากกว่าการบินตัวเดียว การบินเป็นรูปตัว V ทำให้ห่านป่าสามารถบินได้ไกลกว่าการบินตัวเดียว เพราะการบินเป็นรูปตัว V จะช่วยลดแรงต้านของอากาศ
                เมื่อห่านที่เป็นผู้นำ บินด้านหน้าสุดอ่อนล้า มันก็จะบินไปอยู่ด้านหลังตัว V แทน นั่นหมายถึงการเปลี่ยนบทบาทกันเป็นผู้นำ ให้เกียรติกันและกัน ผู้นำยอมที่จะเป็นผู้ตาม และผู้ตามก็จะผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำ ไม่มีการผูกขาดบทบาทผู้นำ
                เมื่อมีห่านตัวใดตัวหนึ่งป่วยหรืออ่อนแรงลงระหว่างบิน ห่านจำนวนหนึ่งก็จะบินไปดูแล จนห่านที่ป่วยนั้นหายป่วยแล้วจึงบินไปรวมฝูงกันใหม่ แล้วก็บินเป็นรูปตัว V เช่นเดิม หรือไม่ก็รอจนกว่าห่านที่ป่วยนั้นตายจากไปแล้ว ห่านจำนวนที่รอก็จะบินไปรวมกลุ่มแล้วบินเป็นรูปตัว V ต่อไป
                ฉะนั้นธรรมชาติของห่านป่าหรือทฤษฏีห่านป่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ก็จะก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างมีความสุข  เมื่อทีมเข้มแข็งก็จะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าไปในที่สุด

การจัดการเวลา

การจัดการเวลา
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                        เวลาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ใช้ในการดำรงชีวิตและการทำงาน เมื่อเรามาวิเคราะห์การใช้เวลา เราจะเห็นได้ว่า เรามักเสียเวลาไปกับการนอน การทำงาน การเดินทาง การกิน การพักผ่อน ฯลฯ
                เคยมีคนศึกษาการใช้เวลาของคนไทย โดยมีอายุเฉลี่ย 72 ปี คนไทยโดยเฉลี่ยมักใช้เวลาไปกับการนอนถึงวันละ 8 ชั่วโมง ( นอน 24 ปีหากคิดจากอายุเฉลี่ย 72 ปี) , ทำงาน 6 ชั่วโมง( ทำงาน 18 ปีหากคิดจากอายุเฉลี่ย 72 ปี) ,เดินทาง 3 ชั่วโมง(เดินทาง 9 ปีหากคิดจากอายุเฉลี่ย 72 ปี) ฯลฯ
                ฉะนั้น หากเราสามารถปรับปรุงการใช้เวลาหรือหากเรามีการจัดการเวลาที่ดี ก็จะทำให้เราสามารถทำงานได้มากขึ้น สร้างผลงานต่างๆให้กับโลกได้มากขึ้น เช่น เราสามารถลดจำนวนเวลาในการนอนจากเฉลี่ยนอนวันละ 8 ชั่วโมง เราอาจลดเหลือ 7 ชั่วโมง ก็จะทำให้เราสามารถมีเวลาเหลืออีก 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือมีเวลามากกว่าคนอื่นถึง 3 ปีหากคิดจากอายุเฉลี่ย 72 ปี
                หากจะพิจารณาว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยในการใช้เวลาของคนเรา อาจมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.ตัวเราเอง 2.ผู้อื่นและ3.สิ่งแวดล้อม แต่ปัจจัยที่ทำให้การจัดการเวลามีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมมีส่วนแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การจัดการเวลาที่ดีควรเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน
นักจัดการเวลาที่ดีควรจัดเวลาโดยการแบ่งเวลาให้เป็นระบบระเบียบ เช่น นักเขียนที่ประสบความสำเร็จหรือนักเขียนมืออาชีพมักจะมีการจัดตารางเวลาในการเขียน นักเขียนบางคนเริ่มต้นเขียนตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็น เขาก็จะปฏิบัติตามทุกวันจนเคยชินและเป็นนิสัย
                จังหวะเวลามีความสำคัญ กล่าวคือต้องรู้ว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง เช่น การต้มถั่วเขียวต้องเอาตัวถั่วเขียวใส่น้ำแล้วต้มจนเม็ดถั่วแตกก่อนแล้วใส่น้ำตาลลงไป กล่าวคือ ต้องรู้ว่าอะไรควรใส่ก่อน อะไรควรใส่ทีหลัง แต่ถ้า ใส่น้ำตาลก่อนแล้วใส่ถั่วเขียว จะปรากฏว่าเม็ดถั่วเขียวไม่ยอมแตก ทำให้เสียเวลาเปล่า
                   อยากทำอะไรให้รีบทำ ไม่ควรนึกฝันแล้วไม่ลงมือทำ  เคยมีลูกศิษย์ของผู้เขียน เคยถามผู้เขียนว่า เขามีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เพราะพ่อแม่มีฐานะอีกทั้งมีญาติอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สามารถช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆได้ แต่ในปัจจุบันเขาทำงานในหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งใน กรุงเทพฯ จะลาออกไปเรียนต่อหรือทำงานต่อดี ผู้เขียนจึงแนะนำว่า เธอควรไป ถ้าเธออยากไป และถ้าหากเธอไม่อยากไปเธอก็ควรไป สรุปผู้เขียนพยายามพูดหว่านล้อมให้เขาไปเรียนเนื่องจาก เราควรลงมือตัดสินใจทำถ้ามีโอกาส ถ้าหากปล่อยเวลาเนิ่นนานต่อไป โอกาสนั้นอาจจะไม่กลับมาหาอีกก็ได้ ในที่สุด ลูกศิษย์ของผู้เขียนตัดสินใจไป  เรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา 2 ปี แล้วกลับมาทำงานที่บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ กรุงเทพฯ เป็นบริษัทมหาชน โดยเขาได้รับเงินเดือนถึงหกหลักเลยทีเดียว
                     การจัดการเวลาที่ดีควรมีการวางแผนและประเมินหรือควบคุมแผนที่วางไว้  เช่นมีเครื่องมือ Diary ,ตารางเวลา,ใบงาน , สมุดบันทึก ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เครื่องมือหรือมีวิธีการในการจัดการเวลาที่ต่างกัน โดยไบรอัน เทรซี่(นักพัฒนาศักยภาพของมนุษย์) เคยกล่าวไว้ว่า ทุกๆ นาทีที่ใช้ในการวางแผนจะประหยัดเวลาได้มากถึง 10 นาที ฉะนั้นหากคุณใช้เวลาวางแผน 10 นาที คุณจะประหยัดเวลาได้ตั้ง 100 นาที หรือ 1 ชั่วโมงกับ 40 นาที เลยทีเดียว
                    สำหรับการจัดการเวลาของผู้เขียน ผู้เขียนมักมีเครื่องมือที่ใช้  กล่าวคือ มี Diary 1 เล่ม มีสมุดบันทึก มีกระดาษเปล่า A4  โดยทุกๆคืน ผู้เขียนจะมานั่งวางแผนโดยคิดวางแผนเป็นแผนรายปี ทุกปีต้องมีเป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ โดยมี Diary พกติดตัวเป็นประจำ ถ้ามีงานใหม่ๆ เข้ามาก็จะบันทึกลงไปว่าต้องทำอะไรในวันไหน สำหรับสมุดบันทึกใช้บันทึกข้อความต่างๆ ที่อ่านพบแล้วรู้สึกประทับใจก็จะบันทึกไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือต่อไป สำหรับกระดาษเปล่า A4 ทุกคืน ผู้เขียนจะมานั่งวางแผนว่าจะทำอะไรในวันพรุ่งนี้โดยเรียงลำดับจาก 1-15 และหมายเหตุลำดับว่าอะไรต้องทำก่อนทำหลัง พอถึงวันพรุ่งนี้ก็ทำตามลำดับในกระดาษ A4 ที่ได้วางแผนไว้ เมื่อลำดับไหนทำเสร็จก็จะขีดฆ่า และเมื่อมีอะไรจะต้องทำในวันพรุ่งนี้หรือวันนี้ ก็จะเขียนลงในตอนท้ายของกระดาษ A4
                ทั้งนี้การจัดการเวลาเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือ สามารถเรียนรู้ได้ สามารถนำไปปฏิบัติ บางหลักการคนอื่นนำไปใช้แล้วได้ผล แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ เราก็สามารถเลือกวิธีการวางแผนหรือเลือกใช้เครื่องมือในการวางแผนตามที่เราถนัดหรือชอบได้ แต่ทั้งนี้ถ้าอยากให้ได้ผลเราก็ควรที่จะปฏิบัติตามและลงมือทำอย่างตั้งใจ ทำจนเป็นนิสัยถึงจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการจัดการเวลา

ศิลปะการพูด

ศิลปะการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า “ การพูด ” เป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิต สำหรับมนุษย์ทุกยุค ทุกสมัย ไม่ว่าอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ไม่ว่าจะชนชาติใด ภาษาใด วัยใด การพูดเป็นทั้งศาสตร์คือ สิ่งที่สามารถศึกษาหาความรู้ได้ การพูดเป็นศิลปะ กล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
                การพูดจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ และยิ่งเป็นนักประชาสัมพันธ์ นักจัดรายการ นักการเมือง นักเทศน์ นักการทูต อาจารย์ วิทยากร ฯลฯ ยิ่งจะต้องใช้การพูดอย่างมีศิลปะหรือบางแห่งอาจเรียกว่ามี “ วาทศิลป์”
                การพูดจึงเป็นได้ทั้งยาพิษและยาหอม หมายถึง เราสามารถใช้คำพูดไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้ การรู้จักใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะ จึงเป็นสิ่งสำคัญในขณะเดียวกัน ในทางกลับกัน การพูดโดยไม่คิดก็ย่อมนำพาเราไปสู่ความหายนะหรือสร้างความตกต่ำให้ชีวิตเราได้เช่นกัน
                การพูดเป็นกุญแจนำทางไปสู่ความสำเร็จ นักขาย นักการเมือง นักสอนศาสนา นักจัดรายการ วิทยากร บุคคลเหล่านี้ ต้องอาศัยการพูดและต้องมีการฝึกฝนการพูด จึงจะประสบความสำเร็จในอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกพูดให้คนคล้อยตามหรือการใช้อารมณ์ขันในการสอดแทรกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ พัฒนา จึงจะนำพาไปสู่ความสำเร็จในอาชีพได้
                การจะพูดให้ได้ดีต้องมี “ อิทธิบาท 4 ” คือ ต้องมีฉันทะ คือมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นนักพูด วิริยะ คือ ความพากเพียรบากบั่นในการฝึกฝนการพูด จิตตะ คือ ต้องมีจิตใจจดจ่อต่อเป้าหมาย ไม่ทอดทิ้งเป้าหมาย วิมังสา คือ การใช้ปัญญาตรวจสอบทบทวนแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ทำให้ดียิ่งขึ้น
                การพูดที่มีส่วนผสมโดย มีวาทศิลป์  มีหลักการ มีเหตุผล มีตลกขบขัน มีตัวอย่าง มีการอ้างอิง มีไหวพริบปฏิภาณ มักเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลโดยทั่วไป และทำให้คนมีความนิยมชื่นชอบในตัวผู้พูด
                บุคคลที่พูดเก่งมีวาทศิลป์ที่ดี มีความเป็นอัจฉริยะในการพูด มักเป็นคนที่มีความทะเยนทะยาน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า มีพลังแห่งการเรียนรู้ที่สูง มีความทรงจำดี มีพลังสมาธิแน่วแน่ กล้าตัดสินใจเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ อีกทั้งยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
                อยากพูดให้ได้ดี ต้องหมั่นศึกษา วิเคราะห์การพูดของนักพูดชื่อดัง  โดยอาจตามไปฟังนักพูดเรืองนาม นักพูดที่มีชื่อเสียง หรือยุคปัจจุบัน เป็นยุคสารสนเทศ เราสามารถตามดูนักพูดชื่อดังได้จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะทางอินเตอร์เน็ต Youtube หรืออาจซื้อ VCD DVD ของนักพูดมาศึกษาได้
                การพูดที่ดี ต้องมีจุดมุ่งหมายปลายทางแห่งการพูด จุดมุ่งหมายในการพูดแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ การพูดเพื่อบันเทิง การพูดให้ความรู้กับการพูดจูงใจ ผู้ที่ต้องการเป็นนักพูดควรต้องรู้ก่อนว่าจะนำพาผู้ฟังไปในจุดมุ่งหมายใด เช่น หากผู้ฟังต้องการฟัง การพูดแบบบันเทิง เราก็ต้องพูดในลักษณะทอล์คโชว์พูดให้สนุก พูดให้ตลกขบขัน ไม่ใช่พูดไปแล้วคนไม่หัวเราะเลย อย่างนี้ก็ประสบความสำเร็จยาก
                บุคลิกภาพกับการพูด บุคลิกภาพมีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน บุคลิกภาพจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจในตัวผู้พูด บุคลิกภาพในที่นี้รวมไปถึงบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอก เช่น ภายใน นิสัยใจคอ อารมณ์ ความรู้สึก ความรอบรู้ ฯลฯ ภายนอก ได้แก่การแต่งกาย ทรงผม ท่าทาง การเคลื่อนไหว การยืน การนั่ง ฯลฯ
                นักพูดที่เก่งมักใช้ภาษาได้ดี เช่น ใช้ภาษาที่มีความชัดเจน อีกทั้งมีการเลือกใช้ถ้อยคำที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการค้นคว้า ฝึกฝน อ่าน เรียนรู้ จนจัดเจนในเรื่องของภาษาศาสตร์ เมื่อศึกษาไปมากๆ ก็จะสามารถสร้างประโยคและวลีต่างๆ ได้งดงามสละสลวยขึ้น
                เสน่ห์การใช้เสียงเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งในการพูด ถ้อยคำเพียงแต่บอกความหมายแต่เสียงทำให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นในหัวใจ การพูดที่ดีต้องมีน้ำเสียงที่หลากหลาย โดยยึดหลักที่ว่า ต้องใช้เสียงให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่พูด
ใช้ระดับเสียง ให้มี หนัก เบา  เว้นระยะ ต่างๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่พูด
                 สรุปคือ ศิลปะการพูด เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ ฝึกฝนได้ พัฒนาได้ ซึ่งการพูดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เรียนรู้จากอาจารย์ท่านเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้การพูดพูดแล้วดูน่าฟัง คนฟังชื่นชอบ สิ่งนั้นก็คือ ศิลปะในการพูดหรือการนำศาสตร์ทางการพูดมาใช้ทำให้เกิดความแตกต่างกันนั้นเอง

การสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่

การสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                ทำไมถึงต้องมีการทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานคนเดียวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะการทำงานคนเดียวมีข้อจำกัดมากมาย การทำงานคนเดียวเหมาะสำหรับการที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายเล็กๆ แต่หากต้องการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เราจึงต้องทำงานกันเป็นทีม
                หากเปรียบเทียบระหว่างช้างกับมดป่า ช้างตัวโตมีพลังและกำลังมากมายมหาศาล แต่ถ้า มดป่ารวมกันเป็นฝูงใหญ่ ช้างนั้นก็ต้องกลัวมดป่าฝูงใหญ่เช่นกัน
                ปลวก ปลวกเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ปลวกสามารถสร้างจอมปลวกอันเข้มแข็งใหญ่โตเท่าภูเขาลูกเล็กๆขึ้นมาได้ ซึ่งจอมปลวกสามารถทนต่อลมฝน อีกทั้งพายุไม่สามารถจะทำลายลงได้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด  ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ตัวเล็กที่รู้จักช่วยเหลือกัน  รู้จักความสามัคคี ทำงานกันเป็นทีม และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของมัน
ฟิช! ป(ล)า ฏิหาริย์แห่งความสำเร็จ พัฒนาความสุขให้ชีวิต เป็นหนังสือที่บ่งบอกเรื่องของการทำงานในตลาดปลา ซีแอตเติล ให้ประสบความสำเร็จซึ่งพูดถึงเรื่องของ การใส่ใจในบริการ การเลือกใช้ทัศนคติ เล่นให้เป็นงาน สร้างสรรค์วันดี และอีกปัจจัยหนึ่งในการทำงานได้ประสบความสำเร็จก็คือการทำงานเป็นทีมนั่นเอง  ตลาดปลาในซีแอตเติลถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าเรียนรู้ อีกทั้งยังมีผู้คนจากหลายประเทศไป ศึกษาและดูงาน 
นิ้วหนึ่งนิ้วจะไม่มีพลัง แต่ถ้านิ้วมีห้านิ้วร่วมกันเป็นมือ มือนั้นก็จะทำอะไรได้หลายอย่าง เช่นกัน คนหนึ่งคนก็เหมือนกับนิ้วหนึ่งนิ้ว แต่ถ้ามีคนห้าคนรวมกันก็จะทำอะไรได้มากมาย ถ้าท่านลองเปิดร้านอาหาร ท่านจะสามารถทำงานคนเดียวได้หรือไม่ แต่หากท่านมีคนห้าคนช่วยกันทำงานเป็นทีม การเปิดร้านอาหารก็จะทำงานได้ง่ายขึ้นและประสบความสำเร็จมากกว่าการทำงานเพียงคนเดียว
             หลักพุทธศาสนากับการทำงานเป็นทีม สังคหวัตถุ 4 อันได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา
ทาน คือ การให้ การเสียสละ การแบ่งปัน ช่วยเหลือกันในทีม
ปิยวาจา คือ การกล่าววาจาที่สุภาพ อ่อนหวาน ไม่พูดเสียดสี ไม่พูดว่ากล่าวให้ร้ายกันในทีม ไม่พูดหยาบคาย มีการชมเชยกันในทีมด้วยความจริงใจ
อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญตนช่วยเหลือกันในทีม ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
 สมานัตตตา คือ การวางตนให้เหมาะสม มีความเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีความร่วมทุกข์ ร่วมสุข ใน ทีมงาน 
                      การประชุมทีมมีความสำคัญมากในการทำงานร่วมกัน ควรต้องมีการสื่อสารร่วมกันในทีมงาน โดยมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ มีการปรึกษาหารือปัญหาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน  การประชุมจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในทีมงาน  มีการตัดสินใจร่วมกัน
                     การออกกฎเกณฑ์ในการทำงานเป็นทีมก็มีความสำคัญ เราจะเห็นว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมต้องทำงานกับคนอื่น ไม่ได้ทำงานคนเดียว ดังนั้น ก่อนทำงานเป็นทีมควรประชุมกันเพื่อหารือกฏเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เสียก่อนแล้วจึงนำไปปฏิบัติร่วมกัน จะทำให้ปัญหาในการทำงานลดน้อยลง

                        ผู้นำทีมมีความสำคัญกับอนาคตของบริษัท Jack Welch  ประธานกรรมการบริหารสูงสุดของ GE  เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงในเชิงบริหารงาน มีอยู่ช่วงหนึ่ง Jack Welch ได้เรียกประชุมพนักงาน แล้วทำการแบ่งกลุ่มให้เป็นทีม ซึ่งแต่ละทีมจะมีคนอยู่ทำงานร่วมกัน 10 คน และให้แต่ละทีมนำเสนอโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาบริษัท แล้วเขาก็พิจารณาโครงการต่างๆนั้น เมื่อผ่านก็จะอนุมัติให้ผู้บริหารและทีมงานนำไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ หากประเมินแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็จะถูกลดเงินเดือนหรือบางคนอาจถูกปลดออกจากงาน ฉะนั้นวิธีการนี้ทำให้บริษัท GE พัฒนาได้อย่างรวดเร็วกว่าบริษัทอื่นๆ
                      สรุป ปัจจัยที่จะสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่มีอยู่หลายปัจจัย เช่น ตัวผู้นำ ตัวผู้ร่วมทีมงาน กฎระเบียบในการทำงานร่วมกัน การประชุมหรือการสื่อสารภายในทีม การสร้างเป้าหมายของทีม การสร้างทัศนคติให้กับทีมงาน ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พลังสร้างชาติคือพลังของความสามัคคี

พลังสร้างชาติคือพลังของความสามัคคี
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์


                ขอ อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532 ถึง แม้จะผ่านมาหลายปีแต่กระผมเห็นว่ายังคงทันสมัยอยู่ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าความสามัคคีเป็นจริยธรรมที่มีความสำคัญในการสร้างความ เป็นปึกแผ่นมั่นคงให้ประเทศชาติ พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีดังนี้

"...ความสามัคคีปรองดองเป็นอัน หนึ่งอันเดียว กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้องสอง ประการนี้ คือ คุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน..."

เรา ต้องยอมรับว่า ในยุคปัจจุบันสังคมไทยมีความแตกแยกทางด้านความคิดกันมาก โดยเฉพาะเรื่องประเด็นของการเมือง ไม่ว่าเรื่องของ คนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง คนเสื้อน้ำเงิน คนเสื้อดำ และคนเสื้อเขียว เป็นต้น

                ซึ่ง การแตกแยกดังกล่าว ทำให้เกิดความกลัว เกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้น บางคนไม่กล้าที่จะใส่เสื้อสีแดง หรือ เสื้อสีเหลือง ไปในที่ต่างๆ เนื่องจาก เกรงกลัวว่า กลุ่มคนเสื้อสีฝ่ายตรงกันข้ามจะเข้าใจผิด อีกทั้งอาจถูกทำร้ายได้

                การแตกแยกความคิดทางการเมืองดังกล่าวทำให้ เศรษฐกิจของประเทศ  สังคม  รวม ทั้งบ้านเมืองถูกทำลาย ดังเช่นการชุมชนทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมามีการเผา ทำลาย ตึก อาคาร สถานที่ราชการ ทำให้ประเทศไทยของเราถดถอย ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านของเรากลับเจริญรุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เขมร มาเลเซีย ฯลฯ

                เนื่อง จากประเทศเหล่านี้ไม่ได้เกิดการแตกแยกกันภายในประเทศ แต่ประเทศเหล่านี้กลับมีความสามัคคีกันของคนในชาติ จึงทำให้เกิดการรุดหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

                ใน ประวัติศาสตร์ชาติไทยของเรา ชาวบางระจัน ชนะศึกสงครามเพราะอะไร ในอดีตไทยเรา สมเด็จพระนเรศวร ทรงชนะศึกเพราะเหตุใด หรือ พระเจ้าตากสินมหาราชชนะศึกเพราะเหตุใด ไม่ใช่เพราะความสามัคคีของคนในชาติหรือ

                ความสามัคคีมีความสำคัญมาก ความสามัคคีจะช่วยให้ชาติของเรา สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างมั่นคงและถาวร  ดัง สัตว์ชนิดหนึ่งคือ ปลวก ปลวกเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ปลวกสามารถสร้างจอมปลวกอันเข้มแข็งใหญ่โตเท่าภูเขาลูกเล็กๆขึ้นมาได้ ซึ่งจอมปลวกสามารถทนต่อลมฝน อีกทั้งพายุไม่สามารถจะทำลายลงได้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด  ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ตัวเล็กที่รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักความสามัคคี ทำงานกันเป็นทีม และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของมัน

หาก พวกเรามีความสามัคคีกัน กระผมเชื่อว่า หากสังคมไทย ต้องการมีความสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีความอบอุ่นและน่าอยู่มากกว่าทุกวันนี้  เรา คงหนีไม่พ้นในเรื่องของความสามัคคีกัน เพราะความสามัคคีจะก่อให้เกิด การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกัน

                 ดัง นั้น หากเรา มาร่วมมือกันพัฒนาสังคมของเราให้มีความอบอุ่นและน่าอยู่ ก็ด้วยการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นในสังคม ไทยของ เรา แล้วเราจะได้พบกับสันติภาพและความอบอุ่นที่เราแต่ละคนต่างก็ปรารถนาและใฝ่ ฝันหาตลอดมา

                ท้ายนี้อยากฝากบทเพลงที่มีความหมายชื่อเพลง รักกันไว้เถิดที่แต่งเนื้อร้องโดยครูนคร ถนอมทรัพย์

รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย จะเกิดภาคไหนก็ไทยด้วยกัน เชื้อสายประเพณีไม่มีกัดกั้น เกิดใต้ธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย…"

แกว่งปากไปหาพวก

แกว่งปากไปหาพวก 
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การ ที่จะพูดให้ถูกใจผู้ฟัง ต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ฟังคือใคร มีความต้องการอะไร มีจำนวนเท่าไร เสมือนหนึ่งเราทำอาหารต้องทราบในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ทานต้องการอาหารประเภท ไหน รสชาติเป็นอย่างไร 
                การวิเคราะห์ผู้ฟังจึงมีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน การวิเคราะห์ผู้ฟังเราสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ 
                1.จำนวนผู้ฟัง มีความสำคัญมากเพราะการพูดกับคนจำนวนน้อย เราต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกับวิธีการพูดที่มีคนจำนวนมาก รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการพูดก็สำคัญไม่น้อย เช่น เอกสารประกอบการบรรยาย ห้องสำหรับใช้บรรยายหรือใช้ในการพูด ถ้าคนน้อยแต่ใช้ห้องประชุมที่ใหญ่มากๆ  หรือ ถ้าคนมากแต่ดันใช้ห้องประชุมขนาดเล็กๆ ทำให้บรรจุคนไม่พอ ดังนั้นนักพูดต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย
                2.เพศและวัย เรื่องของเพศและวัย  เพศชายส่วนใหญ่ชอบ การผจญภัย การต่อสู้ กีฬา  ส่วน เพศหญิงชอบเรื่องของ ความสวยงาม แฟชั่น ดังนั้นการพูดต้องพูดให้มีความสำคัญเหมาะกับเพศและวัยของผู้ฟัง สำหรับวัยเด็ก มักชอบเรื่องที่สนุกสนาน มักมีสมาธิสั้นในการฟัง มักชอบนิทาน  วัยรุ่นชอบเรื่องเกี่ยวกับรักๆใคร่ๆ  ชอบเรื่องที่มีความท้าทาย วัยผู้ใหญ่สนใจเรื่องของอาชีพ การสร้างฐานะ และวัยชรา สนใจเรื่องศาสนา เป็นต้น
                3.พื้นฐานการศึกษาของผู้ฟัง การพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน เราจะต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน ถ้าผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาสูง เราสามารถใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ถ้าพูดให้ผู้ฟังที่มีระดับการศึกษาไม่สูง เราไม่ควรพูดทับศัพท์ และต้องเตรียมเนื้อหา วิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันด้วย ต้อง ใช้ภาษาให้เหมาะสม ในบางครั้งนักพูดคิดไปเองว่า การพูดโดยใช้ภาษาที่สวยงามหรือภาษาวรรณกรรมจะทำให้ผู้ฟังชอบ แต่เปล่าเลย ผู้ฟังที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ต่ำ มักจะไม่เข้าใจ  ทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพในที่สุด
                4.อาชีพ ของผู้ฟัง เช่น อาชีพทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข จะมีศัพท์ในการพูดที่ใช้สื่อสารกันในโรงพยาบาลหรือที่ทำงาน บางครั้งตัวคนไข้หรือผู้ป่วยฟังแล้วอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ศัพท์หรือภาษาเทคนิค ก็ควรมีการอธิบายเพิ่มเติมจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับผู้พูด 
5.ต้องทราบความคาดหวังของผู้ฟัง การบรรยายบางแห่ง ผู้ฟังถูกเกณฑ์ให้มานั่งฟังโดยหัวหน้างานหรือเจ้าของงาน ดังนั้น ผู้ฟังกลุ่มดังกล่าวมักไม่มีความสนใจหรือความคาดหวังว่าจะนำความรู้ไปใช้ได้ อย่างจริงจัง ในการบรรยายบางแห่งผู้ฟังมักเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายเสียมากกว่าเพราะผู้ฟัง เหมือนถูกบังคับให้มานั่งฟังการบรรยาย


                6.ทัศนคติของผู้ฟัง มีความสำคัญมากในการพูด เช่น การพูดเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา ต้องระวังมากๆเพราะ ถึงแม้เราจะพูดให้ได้ดีหรือมีเหตุผลอย่างไรก็ตาม ผู้ฟังมักจะไม่เชื่อ เพราะเรื่องการเมือง เรื่องศาสนา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รวมถึงทัศนคติของผู้ฟังต่อผู้พูดด้วย ถ้าผู้ฟังไม่ชอบผู้พูดเป็นการส่วนตัวแล้ว จะพูดให้ดีอย่างไร ก็คงยากที่ผู้ฟังคนนั้นจะชอบเรา

                7.ต้องหมั่นสังเกตผู้ฟัง เวลาฟังบรรยายหรือพูด ถ้าผู้ฟัง เกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่สนใจ หลับ และสนใจเรื่องอื่นๆ  เราต้องเปลี่ยนวิธีการพูดให้เหมาะสม เช่น ต้องนำเรื่องที่ขำขันที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องที่บรรยายมาเล่า เพื่อให้บรรยากาศดีขึ้น  หรือ เรื่องที่แปลกๆ ที่ทันสมัย  สิ่ง ที่ผู้ฟังยังไม่เคยได้ยิน มาเล่า เพื่อสอดแทรกการบรรยายให้ผู้ฟังหันมาสนใจการพูดของเรา หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะมีเกมส์ มีเพลง หรือกิจกรรมต่างๆมาสอดแทรกการพูดหรือการบรรยาย
                ดัง นั้น ถ้าต้องการเป็นนักพูดที่ดีต้องหมั่นวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าผู้ฟังของเราเป็นใคร มาจากไหน มีพื้นฐานความรู้แค่ไหน มีทัศนคติอย่างไร เป็นเพศไหน วัยไหน เสมือนหนึ่งนักพูดเป็นพ่อครัว ต้องรู้ว่าผู้ทานชอบอาหารรสชาติอะไร อยู่ในวัยไหน จะได้ทำอาหารให้ถูกปากผู้ทาน

เป็นนักขายที่ดีต้องมีความฝัน

เป็นนักขายที่ดีต้องมีความฝัน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ตอน ที่แล้วเราพูดถึงเรื่องเป้าหมายเปลี่ยนชีวิต ในตอนนี้กระผมอยากจะเขียนเพิ่มเติมเพราะเรื่องเกี่ยวกับความฝันหรือเรื่อง เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ

                คน ที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานทุกๆคน ไม่เว้นแม้กระทั่งงานอาชีพนักขาย กระผมคิดว่า เขาจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนของตนเองก่อน ว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต อะไรที่ตนเองชอบที่สุด รักที่สุด พูดง่ายๆคือต้องมีความฝัน และความฝันนั้นต้องยิ่งใหญ่ ไม่ฝันเล็ก หากไม่มีการกำหนดเป้าหมาย ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปตามยถากรรม

                ความ ฝันและเป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำงาน คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อรู้ความฝันหรือเป้าหมายของตนแล้ว เขามักจะจดบันทึกเอาไว้ จดบันทึกเพื่อใช้ในการวางแผน เพราะการจดบันทึกจะทำให้มีพลังและเห็นภาพความฝันและเป้าหมายมากกว่าไม่จด บันทึก หากไม่จดบันทึกก็เหมือนกับการสร้างวิมานในอากาศสักวันก็มักจะลืม ดังนั้นคนที่มีความฝันและเป้าหมาย มักจะเขียนหรือจดบันทึก ความฝันและเป้าหมายตนเองบ่อยๆ เพื่อจะไม่ได้ลืม

อีก ทั้งทำให้มีใจจดจ่อกับเป้าหมายที่วางไว้ บุคคลที่ประสบความสำเร็จบางคนถึงขนาดเขียนเป้าหมายข้อความต่างๆ ติดผนังห้องนอนและที่ต่างๆ เพื่อเตือนใจถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ การกระทำลักษณะเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้จิตใต้สำนึกให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

                ความ ฝันและเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เพราะคนที่ล้มเหลวมักจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายบ่อยๆ ไม่นิ่ง สมมุติถ้าเราฝึกยิ่งธนูที่มีเป้าที่นิ่ง กับการฝึกยิ่งธนูที่มีเป้าที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา พวกเราคงเดาออกว่า การฝึกยิ่งธนูเป้าที่นิ่งกับเป้าที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาอะไรยิ่งได้ยากกว่า กัน

                ความ ฝันและเป้าหมายที่ดี ต้องสามารถปฏิบัติได้และเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นความเพ้อฝันเหมือนเด็กที่อยากจะเป็นซุปเปอร์แมน อยากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ต่างๆ แบบในหนัง  ฉะนั้น ความฝันและเป้าหมายที่ดีจะต้อง สามารถเป็นไปได้และไม่ควรที่จะใหญ่เกินจนกระทั่งตนเองไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามบุคคลที่รู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองต้องการอะไรตั้งแต่ในวัยเด็ก ย่อมได้เปรียบเพราะจะมีเวลาในการพัฒนาตนเองให้ไปถึงเป้าหมายได้มากกว่าคนที่ มีอายุมาก ดังเช่น ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคนที่อยู่ในแวดวงต่างๆ

                ไท เกอร์ วู้ดส์ เป็นตัวอย่างที่ดี เขาจับไม้กอล์ฟตั้งแต่อายุได้แค่สามขวบ ในวัยเด็กไม่มีเด็กคนใดในวัยเดียวกันกับเขาสนใจเล่นกอล์ฟเลย แต่กีฬากอล์ฟคือสิ่งที่เขาปรารถนา เขาเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงมีเวลาพัฒนาเรียนรู้ได้มากกว่าคนอื่นๆ ในที่สุดเขาถึงกับเป็นนักกีฬากอล์ฟระดับหนึ่งของโลก

                ความฝันและเป้าหมายที่ดี ต้องมีการกำหนดระยะเวลา ว่าจะเสร็จเมื่อไร เช่นจะต้องขายของให้ได้ หนึ่งล้านบาทภายใน 1 เดือน เพราะถ้าไม่มีการกำหนดเวลาที่วางไว้ ก็จะทำให้งานที่ทำไม่เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด  จะทำให้ความฝันและเป้าหมายที่วางไว้ สำเร็จช้ากว่าที่ควรจะเป็น

                ความ ฝันและเป้าหมายที่ดี จะต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว หากแผนระยะสั้นมีปัญหาไม่สามารถทำแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด แผนนั้นก็สามารถยืดหยุ่นได้ แต่เป้าหมายปลายทางจะต้องไม่มีการยืดหยุ่นเพราะจะต้องไปให้ถึงปลายทางของ ความฝันนั้น

                มีการวิจัยว่า บุคคลที่ล้มเหลวจำนวน 90-95  %ไม่มีเป้าหมายของชีวิต แต่บุคคลที่ประสบความสำเร็จจำนวน 5-10 % นั้นมีเป้าหมายของชีวิต อีกทั้งบุคคลที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ยังได้ทำงานในสิ่งที่ตนรัก โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์เอกของโลก ถึงกับนอนในห้องทดลอง เขาทำการทดลองสิ่งต่างๆด้วยความสนุกสนานทุ่มเท จนลืมเวลาหลับเวลานอน

                ดัง นั้น ผู้ที่จะเป็นนักขายจะต้องสร้างความฝันหรือเป้าหมายของตนเองขึ้น อาจมีเป้าหมายเป็นยอดขาย เมื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นักขายที่ดีควรให้รางวัลแก่ตนเองบ้าง อาจจะเป็นสิ่งของต่างๆ ที่ตนเองต้องการ เช่น ถ้าขายให้ลูกค้ารายใหญ่ได้แล้วจะซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อนี้  หรือ ตั้งเป้าหมายว่าจะซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หากยอดขายประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

                                คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเดินไปไหน               เขาจะไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย